สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสำนักงานสภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy) ได้ดำเนินการประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและสภาพฝน ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตอาหารและความเป็นอยู่ของประชาชน ด้วยระบบเกษตรที่พึ่งพาสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ประกอบกับการมีแนวชายหาดที่ทอดยาว รวมทั้งการเผชิญกับภัยที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และปรากฏการณ์สภาพอากาศรุนแรง ส่งผลให้ประเทศไทยมีความเปราะบางต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งเทคโนโลยีถือเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งในมาตรการการปรับตัวที่จะช่วยลดความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับมือและการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
สำหรับประเทศไทยได้มีการริเริ่มจัดทำการประเมินความต้องการทางเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Technology Needs Assessment :TNA) ขึ้นในปี พ.ศ. 2555
ภายหลังจากที่ได้มีการจัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย: การปรับตัวภาคการเกษตร” แล้ว ทำให้เห็นว่าข้อเสนอแนะด้านเทคโนโลยียังจำกัดอยู่เฉพาะสาขาเกษตรและสาขาการจัดการน้ำ ดังนั้น การพัฒนาและศึกษาศักยภาพของการพัฒนาทางเลือกของเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ
โครงการพัฒนาแผนที่นำทางและฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สผ. ที่เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และ สอวช. ที่เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยโครงการ TGCP-Policy ได้ให้การสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าวในด้านการวิจัยและเทคนิควิชาการเพื่อประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยีใน 6 สาขาหลักตามที่ระบุไว้ในแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย (1) สาขาการจัดการน้ำ (2) สาขาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (3) สาขาการท่องเที่ยว (4) สาขาสาธารณสุข (5) สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (6) สาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ และนำเทคโนโลยีที่ได้รับการจัดอันดับความสำคัญมาจัดทำแผนที่นำทางและฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศต่อไป
เทคโนโลยีเหล่านี้ครอบคลุมทั้ง Hard Technologies เช่น เครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐาน และ Soft Technologies เช่น กระบวนการตัดสินใจ วิธีบริหารจัดการ และการจัดการโครงสร้างเชิงสถาบัน โดยมีการคำนึงถึงบริบทของท้องถิ่น ภูมิปัญญา และวิถีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาในท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ โครงการฯ จะดำเนินการประเมิน คัดเลือก และจัดลำดับความสำคัญเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบถึงข้อดี ข้อเสีย ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข เพื่อนำไปพัฒนาเป็นแผนที่นำทางของเทคโนโลยีต่อไป
ภายใต้การดำเนินงาน โครงการฯ จะมีการจัดทำเอกสารเชิงหลักการ (concept notes) สำหรับเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการดำเนินการของทั้ง 6 สาขา ซึ่ง ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ได้กล่าวว่า “สอวช. สามารถนำเอกสารเชิงหลักการและแผนที่นำทางเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ของ สอวช. ต่อไปได้”
นอกจากนี้ โครงการฯ จะนำเอาเทคโนโลยีที่ได้จากการจัดลำดับความสำคัญมาพัฒนาต่อเป็นข้อเสนอแนะสำหรับจัดทำ Policy sandbox อย่างน้อย 2 เทคโนโลยี และดำเนินการวิเคราะห์ความเป็นไปได้เพื่อประเมินช่องว่าง ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งข้อจำกัดทางกฎหมาย เพื่อเสนอแนะกลไกที่เอื้อต่อการดำเนินการต่อไป
“การพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานโดยพิจารณาถึงขีดความสามารถและวัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศ จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น” ดร.ณัฏฐนิช อัศวภูษิตกุล ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ. กล่าว