หน่วยงานในภาคการเกษตรของไทย เข้าอบรมเรื่อง กระบวนการควบคุมคุณภาพข้อมูลกิจกรรม เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรของประเทศ
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ร่วมกับโครงการด้านนโยบาย ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy) จัดการประชุมเปิดตัวโครงการ “การพัฒนาวิธีการควบคุมคุณภาพข้อมูลกิจกรรม (Quality Control – QC) ในการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ภาคเกษตร” ให้กับหน่วยงานในภาคเกษตร โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมชลประทานสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เข้าร่วม
ในการประชุม ได้มีการสำรวจสถานะการดำเนินงานปัจจุบันของการควบคุมคุณภาพข้อมูลในหน่วยงานภาคเกษตร เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาวิธีการควบคุมคุณภาพข้อมูลกิจกรรมให้สอดรับการความต้องการของผู้ใช้งานต่อไป ในการอบรมมีการอภิปรายทั้งรูปแบบการเก็บข้อมูล และการควบคุมคุณภาพของข้อมูลกิจกรรม เช่น จำนวนสัตว์ พื้นที่เกษตรที่ถูกเผา ปริมาณปุ๋ย พื้นที่เก็บเกี่ยวข้าว เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานต้องจัดเก็บและรวบรวมส่งให้กับ สศก. และ สผ.
กระบวนการดังกล่าว จะช่วยให้การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศมีความถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใส สอดรับกับรายละเอียดข้อมูลที่จะต้องรายงานในรายงานความโปร่งใสรายสองปี (Biennial Transparency Report: BTR) ที่ประเทศไทยจะต้องจัดส่งกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ในปี พ.ศ. 2567 ตามกรอบความตกลงปารีส
“ที่ผ่านมา การจัดทำระบบประกันคุณภาพ และควบคุมคุณภาพ ในระดับกระทรวงหรือระดับหน่วยงานเจ้าของข้อมูลยังไม่มีการกำหนดรูปแบบวิธีการเดียวกันอย่างเป็นทางการ กิจกรรมจากงานนี้จะช่วยพัฒนาวิธีการควบคุมคุณภาพที่เป็นรูปแบบเดียวกันให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับมาตรฐานคู่มือของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) ปี 2006 ผสานเข้ากับแบบฟอร์มรายงานข้อมูลกิจกรรม โดยคำนึงถึงความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลกิจกรรม รวมถึงความต้องการของหน่วยงานและความเป็นมิตรกับผู้ใช้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรายงานข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับหน่วยงานในการดำเนินการ” ดร.ณัฏฐนิช อัศวภูษิตกุล ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าว
การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมศักยภาพของ สผ. ในการควบคุมคุณภาพข้อมูลกิจกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (MRV) สำหรับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ภาคเกษตร ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สาขา (สาขาพลังงาน ขนส่ง ขยะของเสีย อุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูป และเกษตร) ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ