โครงการ ThaiCI ร่วมกับกองทุนสิ่งแวดล้อม เสริมศักยภาพให้บุคลากร พร้อมเดินหน้าผลักดันกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศ
- โครงการ ThaiCI และกองทุนสิ่งแวดล้อม ร่วมยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรกองทุนฯ ด้วยการบูรณาการมาตรฐานการปกป้องด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESS) และมิติเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม (GSI) เพื่อช่วยให้การจัดการโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลกและแนวปฏิบัติที่ครอบคลุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การที่บุคลากรกองทุนฯ มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติงานของ IFC และแนวคิด GSI ช่วยให้มั่นใจได้ว่าโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการดำเนินการที่ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น
- การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรกองทุนฯ ให้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติได้ และเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในการบริหารโครงการอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการต่อไปในอนาคต
เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยโครงการThai Climate Initiative (ThaiCI) ร่วมกับกองทุนสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานนโยบายและแผนงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การดำเนินการมาตรฐานการปกป้องด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมและบูรณาการด้านเพศสภาพ ในการวิเคราะห์และบริหารโครงการ” ณ โรงแรมเคนซิงตัน อิงลิช การ์เด้น รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 30สิงหาคม ถึง 1 กันยายน พ.ศ. 2566
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรกองทุนสิ่งแวดล้อมในการวิเคราะห์และบริหารโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานกองทุน ThaiCI เป็นไปตามแผนการดำเนินโครงการที่วางไว้ โดยมีผู้เข้าร่วมจากกองทุนสิ่งแวดล้อมจำนวน 50 คน
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ นี้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมเกี่ยวกับมาตรฐานการปกป้องด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Safeguards: ESS) และมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Performance Standard) ของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ในบริบทของการวิเคราะห์และการจัดการโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้วัตถุประสงค์ ขอบเขต และความสำคัญในแต่ละมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการบูรณาการมาตรฐานเหล่านี้เข้ากับการวางแผนและการดำเนินโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระดับสากล รวมถึงเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุน ThaiCI จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
อีกหนึ่งเนื้อหาที่สำคัญของการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ คือเรื่องการบูรณาการมิติเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม (Gender and Social Inclusion: GSI) ในการวิเคราะห์และการบริหารโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด GSI และความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในบริบทสากลและบริบทไทย ผ่านการนำเสนอตัวอย่างความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของการบูรณาการแนวคิด GSI และตระหนักถึงบทบาทของการวิเคราะห์ GSI ที่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการ
นอกจากการบรรยายข้างต้นแล้ว ผู้เข้าร่วมยังได้ทำกิจกรรมภาคปฏิบัติและระดมสมองผ่านการทำงานกลุ่ม เพื่อประยุกต์ความรู้ที่ได้รับเข้ากับการวิเคราะห์โครงการของกองทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรมภาคปฏิบัติเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างความเข้าใจของผู้เข้าร่วมเท่านั้น แต่ยังสร้างทักษะในการจัดการกับความท้าทายในการบริหารโครงการอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการมีส่วนร่วมต่อความสำเร็จของโครงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ นี้จัดขึ้นภายใต้โครงการ ThaiCI ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate: TGC EMC) โดยกองทุน ThaiCI เป็นกลไกการเงินที่สนับสนุนการป้องกันสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ผ่านการให้เงินทุนสนับสนุนโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การยกระดับขีดความสามารถด้านการดำเนินงานของกองทุนสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ดำเนินโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คุณอภิรุจี จตุรทิตย์
เจ้าหน้าที่โครงการ ThaiCI
อีเมล:apirujee.chaturathit(at)giz.de