ความเป็นมา
การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการได้อย่างเสรี เป็นเป้าหมายหลักของประชาคมอาเซียน และเป็นรากฐานสำคัญของการมีตลาดเดียวกันภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในภาคการเกษตร อาเซียนได้ดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างการค้าและการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีการผลิตอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานระดับภูมิภาคและสากล แต่ในทางปฏิบัติจริงการทำให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพตามมาตรฐานและมีการผลิตอย่างยั่งยืน ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ ส่งผลให้โอกาสในการเชื่อมโยงตลาดทั้งภายในและนอกภูมิภาคมีน้อยลง
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนากรอบเงื่อนไขสำหรับการดำเนินงานด้านมาตรฐานความยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าเกษตร โดยมุ่งเน้นถึงด้านที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียนให้ดียิ่งขึ้น
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการฯ มีเป้าหมายสนับสนุนการส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าการเกษตรอย่างยั่งยืนในอาเซียน ดังนี้
- เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างคณะทำงานด้านพืชของอาเซียนและภาคเอกชน
- ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยการบูรณาการประเด็นเพศภาวะ/เพศสภาพเข้ากับแผนงานยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องของอาเซียน
- พัฒนากลไกความร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
- เสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการผลิตสินค้าเกษตรแบบยั่งยืนที่มีต่อสุขภาพและระบบนิเวศ
- รวบรวมบทเรียนความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการนำมาตรฐานด้านคุณภาพและความยั่งยืนไปปฏิบัติใช้โดยจัดทำเป็นชุดเครื่องมือเพื่อนำเสนอผู้บริหารระดับนโยบายในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และระดับภูมิภาค รวมถึงการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
- สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการบูรณาการประเด็นเพศภาวะเข้าสู่กระแสหลักในห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าเกษตร โดยได้มีการนำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบูรณาการประเด็นเพศสภาพไปปฏิบัติในแผนยุทธศาสตร์ด้านพืชของอาเซียน ปี พ.ศ. 2564 – 2568 และกิจกรรมโครงการ
- จัดตั้งกองทุน Agrinnovation Fund in ASEAN (AIF) เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าเกษตรในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม กองทุน AIF ได้สนับสนุนการดำเนินโครงการกว่า 29* โครงการร่วมกับภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการผลิต ความปลอดภัย คุณภาพและความยั่งยืนในห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าเกษตร
*6 โครงการอยู่ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ Climate Resilience of Agricultural Systems in Cambodia and Viet Nam (CRAS)
- จัดทำการศึกษาเรื่องการนำข้อกำหนดมาตรฐานอาเซียน ASEAN GAP และ ASEAN Standards for Organic Agriculture (ASOA) ไปปฏิบัติใช้ในประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมข้อเสนอแนะให้สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดมาตรฐานอาเซียน
- ปรับปรุงระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเกษตรอินทรีย์ของ สปป.ลาว โดยการทบทวนและปรับปรุงเอกสารที่มีให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของอาเซียน
- สนับสนุนการพัฒนา VietGAP Guidelines สำหรับพืช 10 ชนิด พร้อมทั้งจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์และดำเนินการจัดฝึกอบรมผู้ฝึกสอน (TOT) ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำ VietGAP Guidelines ไปปฏิบัติใช้
- ส่งเสริมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในประเทศเวียดนาม โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดงานเพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทบทวนการดำเนินการของกฤษฎีกาฉบับที่ 09/2018/ND-CP ว่าด้วยเกษตรอินทรีย์ และพัฒนาหน่วยรับรองเกษตรอินทรีย์
- สนับสนุนเวทีแลกเปลี่ยนระดับภูมิภาคในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยโครงการได้สนับสนุน ASEAN Climate Resilience Network (ASEAN-CRN) และกลุ่มเจรจาด้านการเกษตรของอาเซียน (ASEAN Negotiating Group on Agriculture: ANGA) ในการดำเนินงานภายใต้บริบทของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC)
- จัดทำหลักสูตรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) ในเรื่องการเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจในเจรจาภายใต้บริบทของ UNFCCC ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลิงค์หลักสูตร https://t1p.de/uhfb8
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
ประเทศ
ระดับภูมิภาค (10 ประเทศอาเซียน) ระดับประเทศ: กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
ประชาคมอาเซียน (ASEAN) คณะทำงานด้านพืชของอาเซียน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
สิงหาคม พ.ศ. 2562 – ธันวาคม พ.ศ. 2566
ข้อมูลเพิ่มเติม
www.thai-german-cooperation.info, www.asean-agrifood.org