เส้นทางของอาเซียนสู่ความยั่งยืนและความปลอดภัยทางอาหาร
ภาพหมู่ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยทางอาหารในอาเซียนในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่กรุงเทพมหานคร ภาพถ่าย: เกียรติยศ วงศ์อุดมเลิศ
- ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านอาหารจากประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องความปลอดภัยทางอาหารในระดับภูมิภาค
- ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนจากประเทศอาเซียนและญี่ปุ่นได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนเกี่ยวกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
- การประชุมปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการส่งเสริมการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัยและทางเลือกอื่นที่ยั่งยืน
เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอกับการบริโภคของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น พบว่ามีการใช้สารเคมีทางการเกษตรเพื่อกำจัดศัตรูพืชอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สมาชิกประเทศอาเซียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นความปลอดภัยทางอาหาร จึงเห็นควรให้มีการส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นนี้ และส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัย รวมถึงการพิจารณาใช้ทางเลือกอื่นที่ยั่งยืน ดังนั้นจึงมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ ระบบความปลอดภัยทางอาหารในอาเซียน (Food Safety Systems in ASEAN) ขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ณ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และการริเริ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางอาหารในระดับภูมิภาค โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบายด้านเกษตรในภูมิภาครวม 46 คนเข้าร่วมงานดังกล่าว
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ นี้ จัดขึ้นโดยสำนักเลขาธิการอาเซียน โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับโครงการพัฒนาบุคลากรในภาคอาหารผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียน (HRD) ระยะที่ 3 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ประเทศญี่ปุ่น และโครงการความร่วมมืออาเซียน-เยอรมัน คือ โครงการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืนในห่วงโซ่คุณค่าในอาเซียน (ASEAN AgriTrade)
ความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยทางอาหาร
ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ดำเนินการส่งเสริมการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ผ่านการดำเนินการกรอบนโยบาย การส่งเสริมให้มีการใช้วิธีควบคุมศัตรูพืชแบบทางเลือก และการส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้เกี่ยวข้องด้านการเกษตร
ดร.ฟาม ควาง มิน (Pham Quang Minh) หัวหน้าแผนกอาหาร เกษตร และป่าไม้ ของสำนักเลขาธิการอาเซียน
ดร.ฟาม ควาง มิน (Pham Quang Minh) หัวหน้าแผนกอาหาร เกษตร และป่าไม้ ของสำนักเลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ที่ได้มาร่วมประชุมและเน้นถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องการความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงภาคเอกชนและองค์กรนานาชาติ
โดย ดร.มิน กล่าวถึงการดำเนินงานในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันจะเห็นได้จากการเผยแพร่เอกสารแนวทางการปฏิบัติในภูมิภาคสำหรับการเกษตรอย่างยั่งยืน ASEAN Regional Guidelines for Sustainable Agriculture และแนวทางการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่มีความรับผิดชอบในภาคอาหาร เกษตร และป่าไม้ ASEAN Guidelines on Promoting Responsible Investment in Food, Agriculture and Forestry นอกจากนี้ ดร.มิน ได้กล่าวถึงการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลที่อาจมีบทบาทในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและความปลอดภัยทางอาหารในภูมิภาค ตลอดจนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการเกษตรซึ่งเป็นประเด็นที่เริ่มได้รับความสนใจในอาเซียน
ฮิโรอากิ คิโนชิตะ ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาบุคลากรในภาคอาหารผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียน (HRD) ระยะที่ 3 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวว่าความปลอดภัยทางอาหารเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน และได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรอย่างยั่งยืน
คุณฮิโรอากิ คิโนชิตะ ผู้ประสานงานโครงการ HRD
เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันในภูมิภาค นางพจมาน วงษ์สง่า หัวหน้าโครงการระดับภูมิภาค โครงการ ASEAN AgriTrade ได้แลกเปลี่ยนถึงการจัดทำการศึกษาภายใต้โครงการเรื่อง การใช้สารเคมีทางการเกษตรในภูมิภาค ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามมาตรฐานอาเซียนเกี่ยวกับระดับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limits: MRL)
ในนามเจ้าภาพการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ กรมวิชาการเกษตร โดยรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน ได้กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของภาคการเกษตรในภูมิภาค ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การดำรงชีพ และความมั่นคงทางอาหาร
ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร
“การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องระบบความปลอดภัยทางอาหารในอาเซียน (Food Safety Systems in ASEAN) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางอาหารในระดับภูมิภาคและสากล โดยมีวิทยากรหลายท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อดังกล่าว การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ิเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคและบทบาทของอาเซียนในการส่งเสริมการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัย” ดร.พงศ์ไทกล่าว
ที่ประชุมฯ ยังได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และบทเรียนจากผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคและในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงมุมมองจากภาคเอกชนและผู้บริโภคอีกด้วย
พจมาน วงษ์สง่า
ผู้อำนวยการโครงการ / หัวหน้าโครงการระดับภูมิภาค โครงการ ASEAN AgriTrade
อีเมล:pouchamarn.wongsanga(at)giz.de