ก้าวสำคัญของประเทศไทยในการประยุกต์ใช้ข้อมูลดิจิทัลในภาคการเกษตรได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสามารถขอใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านระบบออนไลน์ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยไม่ต้องเดินทางมายื่นคำขอด้วยตนเอง
กลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Global Alliance for Trade Facilitation) ซึ่งดำเนินงานหลักโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้สนับสนุนกรมวิชาการเกษตรในการพัฒนาใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ePhyto กับประเทศคู่ค้าผ่านอนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ (IPPC) Hub โดยเชื่อมระบบผ่านทาง National Single Window (NSW) ซึ่งเป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจสำหรับการนำเข้า ส่งออกสินค้า ส่งผลให้การค้าส่งออกมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยมากขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลง
ผู้ส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ต้องใช้ใบรับรองสุขอนามัยพืช เพื่อนำไปสำแดงต่อประเทศผู้นำเข้าว่าสินค้าได้ผ่านการตรวจสอบรับรองด้านสุขอนามัยพืชตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า และเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการด้านสุขอนามัยพืช โดยเมื่อวันที่ 1กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้นำร่องเปิดการใช้งานระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์กับการส่งออกผลไม้ 22 ชนิดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้ค้าสามารถยื่นคำขอผ่านระบบออนไลน์
การพัฒนาและประยุกต์การใช้ใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ePhyto จะช่วยให้ผู้ส่งออกสินค้าในประเทศไทยเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากความผิดพลาด การสูญหาย หรือการเสียหายของใบรับรองฯ ในรูปแบบเอกสาร ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้า นำมาซึ่งความเสียหายและการเน่าเสียของสินค้าได้ลดลง
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า จัดงานเปิดตัวการใช้งานระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ของไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และภาคเอกชนจากสมาคมและบริษัทต่างๆ ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมีผู้ร่วมงานทั้งหมด 151 ท่าน ซึ่งเป็นผู้แทนจากองค์กรในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติจากประเทศคู่ค้าสำคัญ
“ในปี พ.ศ. 2564 กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จำนวน 409,279 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 784,259 ล้านบาท การออกแบบและพัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ของกรมวิชาการเกษตรจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการส่งออก ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน แลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นผ่านอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดการใช้กระดาษ และสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ตั้งแต่ประเทศปลายทางจนถึงเกษตรกรผู้ผลิต” นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
“นอกจากนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการ สามารถนำข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ในระบบมาใช้ประโยชน์ในการเจรจาต่อรองทางการค้า หรือกำหนดเงื่อนไขด้านสุขอนามัยพืช หรือนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทย” นายระพีภัทร์ กล่าวเสริม
ภาคการเกษตรมีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 8 ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) มีแรงงานประมาณ 6.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1 ส่วน 3 ของอัตราแรงงานทั้งหมด และประกอบด้วยภาคธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการค้าขายกับประเทศสมาชิกอาเชียนและประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ได้มีการดำเนินการงานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อจะเชื่อมต่อระบบ Single Window กับระบบ ePhyto Hub ของอนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ (IPPC) เพื่อที่จะสามารถแลกเปลี่ยน ePhyto ระหว่างประเทศที่มีการเชื่อมต่อกับระบบ ePhyto Hub ของ IPPC ได้ นอกจากนี้โครงการฯ ได้ยังมีการสนับสนุนในการจัดฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการใช้งาน ePhyto อีกทั้งยังรณรงค์สร้างความตระหนักถึงประโยชน์ของการใช้งาน ePhyto ให้แก่ภาคเอกชน
“การเปิดใช้งานของระบบนี้ได้สื่อถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการปฏิรูปทางการการค้าอย่างเป็นระบบ” นายฟิลลิปป์ ไอซเลอร์ ผู้อำนวยการกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าว “การใช้งานของ ePhyto นั้นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย”