ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อเดินหน้าสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามสัตยาบันที่ผู้นำประเทศได้กล่าวไว้บนเวทีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเมื่อปีที่ผ่านมา
Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว เป็นพลังงานสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก อาทิภาคการขนส่ง การผลิตพลังงาน ไฮโดรเจนสีเขียวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าจับตามองที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย net zero ได้
เมื่อเร็วๆ นี้ GIZ ประเทศไทย ร่วมกับหอการค้าไทย-เยอรมัน จัดการประชุมเพื่อเปิดตัวโครงการ H2-Uppp ณ โรงแรม Crowne Plaza กรุงเทพฯ โดยโครงการดังกล่าวมุ่งขยายตลาดไฮโดรเจนสีเขียว และออกแบบระบบ Power-to-X (PtX) เพื่อนำไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนไปผลิตก๊าซไฮโดรเจนสีเขียว
ผู้เข้าร่วมกว่า 180 คนได้รับฟังเนื้อหาของโครงการจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตั้งแต่โครงสร้างของระบบ การใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว และการร่วมขับเคลื่อนของภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนภาคเอกชนที่จะเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนแผนพลังงานสะอาดให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานระหว่างกัน จากทั้งผู้แทนภาครัฐ ได้แก่ ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน มร. โจอันเนส เคอร์เนอร์ กงสุลใหญ่ด้านเศรษฐกิจและการค้าจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน ประจำประเทศไทย และผู้แทนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งรัฐบาลเยอรมัน มร.ทานิก เอล-ลาบูดี รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประสานงานโครงการอีกหลายท่าน
โครงการ H2-Uppp ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งรัฐบาลเยอรมัน (BMWK) GIZ จะดำเนินงานร่วมกับหอการค้าไทย-เยอรมัน โดยสนับสนุนนโยบายและพัฒนาตลาดสำหรับไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ Power-to-X ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม การริเริ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และโครงการต่างๆตลอดจนการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และการสร้างเครือข่ายร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนของประเทศเยอรมนีซึ่งจะรวมถึงการวิเคราะห์ตลาดธุรกิจ และการจัดการสัมมนาเป็นต้น