ความเป็นมา
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่พัฒนาเร็วที่สุดในโลก คาดการณ์ว่าความต้องการด้านพลังงานของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ภายในปีพ.ศ. 2583 ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันเทียบเท่ากำลังการผลิตรวมในภูมิภาคกว่า 3 ใน 4 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 72 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีประชากรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 82 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในภูมิภาค ดังนั้นทางเลือกด้านพลังงานของ 4 ประเทศนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค อย่างไรก็ตามแม้หลายประเทศจะมีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนท่ามกลางภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักในภูมิภาค ส่งผลให้ประเทศสมาชิกเผชิญความเสี่ยงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นอกจากนี้แต่ละประเทศยังเผชิญปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวางการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนหลายประการ เช่น การออกนโยบายพลังงานที่ไม่ต่อเนื่อง การประเมินศักยภาพการใช้พลังงานที่ไม่สอดคล้อง ขีดความสามารถและปัญหาเรื่องเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้า การขาดความร่วมมือในการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าข้ามพรมแดน ตลอดจนพลวัตของเศรษฐกิจการเมืองที่ยังคงสนับสนุนเทคโนโลยีฟอสซิล
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสากลและเป็นฟันเฟืองป้องกันวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามวัตถุประสงค์ข้อตกลงปารีสที่กำหนดให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนโดยเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายยุติการใช้พลังงานจากถ่านหินภายในปีพ.ศ. 2593 อย่างช้าที่สุด
วัตถุประสงค์
โครงการ CASE มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันนโยบายเปลี่ยนผ่านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนการพัฒนากลยุทธ์ในภูมิภาคให้สอดคล้องตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีส โครงการฯ นำงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ตลอดจนศึกษาข้อเท็จจริงในแต่ละประเทศ เพื่อนำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยส่งเสริมการปฏิบัติงานของผู้บริหารจัดการเศรษฐกิจ ผู้กำหนดนโยบายในภาคส่วนพลังงาน สภาอุตสาหกรรม และผู้บริโภคพลังงานไฟฟ้าให้รุดหน้า ปฏิรูปภาคส่วนพลังงานอย่างมีกลยุทธ์และรวดเร็ว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทางโครงการฯ ใช้แนวทางการค้นหาข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยอาศัยบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญและการเจรจาเพื่อให้เกิดฉันทามติร่วมกัน โดยภาพรวมคาดว่าการสร้างหลักฐานนี้จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและธุรกิจมีความรู้และความสามารถในการจัดการการเปลี่ยนแปลงของภาคพลังงานในลักษณะที่เป็นธรรมต่อสังคม นอกจากนี้โครงการ CASE ยังสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและประสานงานของภาคส่วนพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้การสนับสนุนเชิงเทคนิคและนโยบาย รวมไปถึงช่วยสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ด้านพลังงานรูปแบบใหม่ CASE จึงมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการ CASE ริเริ่มโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และองค์กรเชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในประเทศและต่างประเทศ CASE เป็นโครงการประสานงานระดับโลกที่สนับสนุนกระบวนการการเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงใต้ การดำเนินงานโครงการฯ สอดคล้องกับพันธกิจของโครงการภาคีเครือข่ายเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition Partnership หรือ ETP) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรของประเทศผู้ให้ทุนและองค์กรการกุศลระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้กับรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โครงการ CASE ประกอบด้วยองค์กรต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้านและขับเคลื่อนโดยความร่วมมือในระดับภูมิภาคและเครือข่ายที่แข็งแกร่ง คณะทำงานของโครงการ CASE ประกอบไปด้วย GIZ และองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างๆ ดังนี้
- องค์กรระหว่างประเทศผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและภูมิอากาศจากประเทศเยอรมนี ได้แก่ Agora Energiewende และ NewClimate Institute
- Institute for Essential Services Reform (IESR) ดำเนินงานในประเทศอินโดนีเซีย
- Institute for Climate and Sustainable Cities (ICSC) ดำเนินงานในประเทศฟิลิปปินส์
- สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดำเนินงานในประเทศไทย
- Vietnam Initiative for Energy Transition (VIET) ดำเนินงานในประเทศเวียดนาม
โครงการ CASE จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินการดังต่อไปนี้
- การวิจัยและหลักฐาน: พัฒนางานวิจัยเพื่อค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์และข้อเท็จจริงเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ความโปร่งใสและความร่วมมือ: เพิ่มความโปร่งใสและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อยกระดับความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ที่ผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
- การเจรจาหารือร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียนอกภาคพลังงาน: ส่งเสริมให้เกิดการเจรจาหารือเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงานภายในหน่วยงานของรัฐนอกภาคพลังงาน
- การส่งเสริมเชิงเทคนิคกับภาคพลังงาน: พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในภาคพลังงานที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
- การส่งเสริมการตระหนักรู้สาธารณะ: สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมสาธารณะเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
ประเทศ
ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม
หน่วยงานหลักร่วมดำเนินงาน
ประเทศอินโดนีเซีย: คณะกรรมการพลังงาน โทรคมนาคม และสารสนเทศ กระทรวงการวางแผนพัฒนาแห่งชาติ
ประเทศฟิลิปปินส์ : สำนักงานการจัดการพลังงานทดแทน กรมพลังงาน ประเทศฟิลิปปินส์
ประเทศไทย: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
ประเทศเวียดนาม: คณะกรรมการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
เมษายน 2563 – กุมภาพันธ์ 2567
เพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติกระบวนการร้องเรียนของ IKI หากท่านพบการกระทำความผิด สามารถแจ้งข้อมูลได้ ที่นี่.