โครงการ CASE เปิดเครื่องมือสร้างแรงจูงใจลดคาร์บอนในภาคธุรกิจ นำไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

- โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง Climate Finance for Carbon Neutrality in Thailandซึ่งสำรวจเครื่องมือทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย และเสนอแนะชุดนโยบาย กลไก และเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050
- ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 1 ประกอบด้วยภาคพลังงาน (supply) และภาคขนส่ง ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับธุรกิจหรือกิจกรรมสีเขียว
- โครงการ CASE จะลงบทความเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นนี้ต่อไป
1 กันยายน พ.ศ. 2566 – โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) โดยมีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันวิจัยพลังงาน (ERI) เป็นผู้ดำเนินการหลักภายในประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร Fair Finance Thailand และ Greenpeace Thailand จัดงาน “Climate Finance & Thailand Taxonomy; Opportunity and Challenge โอกาสและความท้าทายของกลไกทางการเงินและการจัดกลุ่มกิจกรรมสีเขียวของไทย” เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วนได้รับฟังและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องกลไกทางการเงินซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

คุณจารุกาญจน์ ราษฎร์ศิริ ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และการขนส่ง GIZ ประเทศไทยกล่าวเปิดงานว่า “27 ปีต่อจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานและบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือที่เรียกว่า Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามคำมั่นสัญญาในที่ประชุมCOP26 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero Carbon) ของประเทศไทยภายในปี ค.ศ. 2065 การสร้างความร่วมมือในหลายภาคส่วนของสังคมไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันเป้าหมายทั้งคู่ให้สำเร็จ โดยหนึ่งในมาตรการที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานนี้คือ กลไกทางการเงินสำหรับกิจกรรมสีเขียว ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจร่วมลดคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
ด้านคุณกรรณิการ์ ศรีธัญญลักษณา ผู้อำนวยการ บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง Climate Finance for Carbon Neutrality in Thailand โดยระบุว่า การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสนอแนะกลไกหรือเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการลดคาร์บอนในภาคพลังงาน การขนส่ง และอุตสาหกรรม ในแต่ละช่วงของการนำไปใช้ โดยผลการศึกษาประกอบด้วยชุดนโยบาย กลไก และเครื่องมือทางการเงิน เพื่อสนับสนุนเส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ตามสถานการณ์จำลองที่ CASE ได้ศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเครื่องมือทางการเงินในรายงานได้แก่ เงินสนับสนุน (Grants) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ประกันภัยความเสี่ยง (Risk guarantee) การกำหนดราคาคาร์บอน(Carbon pricing) และตราสารหนี้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate bonds)

หลังจากนั้น คุณบุญรอด เยาวพฤกษ์ กรรมการ บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด ได้นำเวทีเสวนาเรื่อง “โอกาสและความท้าทายของกลไกทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 1” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ คุณธนิดา ลอเสรีวานิช ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คุณนที สิทธิประศาสน์ ผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณสฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) และคุณคูบา โกโกลิวสกี้ หัวหน้าโครงการรณรงค์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลง กรีนพีซ ยุโรป ทั้งหมดได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ เช่น การประกอบธุรกิจของภาคเอกชนให้เกิดกำไรแต่ยังคำนึงถึงกิจกรรมที่นำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และกลไกทางการเงินต่างๆ ที่จะส่งผลต่อกิจกรรมในเชิงธุรกิจ รวมถึงวิธีการการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม
ภายในงานมีผู้เข้าร่วมงานมาจากหลากหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้โครงการ CASE และพันธมิตรได้นำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับกลไกทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อกลุ่มผู้เกี่ยวข้องและเป็นกลุ่มผู้ทำการตัดสินใจในแต่ละภาคส่วนต่อไป
คุณซาช่า อ้อปโปว่า
ผู้อํานวยการโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE)
อีเมล:sascha.oppowa(at)giz.de