กระทรวง หน่วยงาน เมืองและสถาบันฝึกอบรมของอินเดียเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองและการพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากร
การฝึกอบรมแรกจัดขึ้นในวันที่ 31 กรกฏาคม และ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งนำเสนอแนวทางการจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการและเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งถูกรวมไว้ในวาระแห่งโลก โดยมีตัวแทนจากกระทรวง หน่วยงานระดับประเทศ หน่วยงานระดับเมืองและสถาบันฝึกอบรมเข้าร่วม 65 คน
หลังจากการประชุมแรก ผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 35 คน ได้เข้าร่วมการอบรมการพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากรในวันที่ 2-3 สิงหาคม พ.ศ. 2561 การอบรมนี้เน้นฝึกทักษะการเป็นวิทยากรให้แก่ผู้เข้าอบรม และนำเอาประสบการณ์การฝึกอบรมด้านการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองมาพัฒนาและปรับใช้ ผ่านรูปแบบการฝึกอบรมเชิงโต้ตอบ การฝึกอบรมทั้งสองหลักสูตรนี้ ดำเนินการโดยวิทยากรสองท่าน จาก Denkmodell GmbH ประเทศเยอรมนีที่เน้นการใช้รูปแบบ “Design Thinking”
การอบรมนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างกระทรวงการเคหะและกิจการเมือง สถาบันพัฒนาเมืองแห่งชาติ (NIUA) สถาบันฝึกอบรมการบริหาร และโครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซียของ GIZ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ในการบรรลุความร่วมมือทางด้านนิเวศวิทยา ความยั่งยืนทางสังคมและเศรษฐกิจของอินเดีย
Prof. Jagan Shah ผู้อำนวยการ NIUA ได้แสดงความยินดีกับความร่วมมือระหว่าง NIUA และ GIZ เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาในประเทศอินเดีย ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานใหญ่ทั้งสี่แผนของอินเดีย ที่เป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินงานเร่งด่วน
Mr. Wolfgang Koester ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและรองหัวหน้ากรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้เปิดการฝึกอบรมการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง และชี้ชัดว่ารูปแบบการฝึกอบรมใหม่นี้ได้ให้วิธีการแก้ปัญหาด้านเทคนิค และกระตุ้นความร่วมมือระหว่างสถาบันต่างๆ ที่รับผิดชอบแผนงานหลักทั้งสี่แผนงานภายใต้กระทรวงการเคหะและกิจการเมือง ได้แก่ ภารกิจเมืองอัจฉริยะ ภารกิจอาทาลเพื่อการฟื้นฟูและการเปลี่ยนแปลงเมือง (AMRUT) ภารกิจสวาช บาราท และภารกิจการเคหะเพื่อมวลชน นอกจากนี้เขายังกล่าวว่าการฝึกอบรมจะสนับสนุนการดำเนินงานแผนงานหลักสี่แผนนี้ เนื่องจากการฝึกอบรมจะต้องฝึกปฏิบัติในรูปแบบของ “ห้องทดลองนวัตกรรม” (มีการทำงานกลุ่ม) เชิงโต้ตอบ โดยใช้ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการค้นหาวิธีการแก้ปัญหา
“Design Thinking” จะถูกนำมาใช้เป็นแนวทางสหวิทยาการ ที่ได้รับการสนับสนุนโดย Hasso Plattner ผู้ร่วมก่อตั้งของ SAP วิธีการคิดนี้เป็นมากกว่ากระบวนการสร้างสรรค์ และได้กลายเป็นรูปแบบใหม่ของการทำความเข้าใจในปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง โดยเอาผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง อาจเรียกได้ว่าเป็นวิธีที่นำเอาความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากคนหลายๆ คนมาวิเคราะห์ สร้างไอเดีย ตั้งคำถาม และหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน เพื่อเรียนรู้และทำงานในช่วงศตวรรษที่ 21 นี้ จุดเด่นของ Design Thinking คือความสามารถในการจุดประกายรูปแบบใหม่ของการทำงานเป็นทีมที่สร้างสรรค์
Shri Durga Shanker Mishra, IAS เลขานุการ กระทรวงการเคหะและการกิจการเมือง ได้กล่าวคำปราศรัยที่มุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาของอินเดียหลายเรื่อง เช่น “การเคหะเพื่อมวลชน 2022” และ “การจัดหาน้ำประปาให้ได้เต็มร้อยภายในปีค.ศ. 2020”
นอกจากนี้ ท่านยังได้กล่าวว่า การพัฒนาเมืองเป็นเครื่องจักรของการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศที่จะประสบความสำเร็จ และตอบสนองความต้องการของประชาชน ที่ผ่านมาอินเดียมุ่งพัฒนาชนบทอย่างเดียวมาเป็นเวลานานเกินไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเมือง ปัจจุบันจะเห็นว่าเมืองสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถึงร้อยละ 65 และจะมากกว่าร้อยละ 80 ภายในปีค.ศ. 2050 ประชาชนย้ายไปอยู่ในเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็ยังมีแนวโน้มที่จะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงที่อยู่อาศัย งาน และอื่นๆ
นายกรัฐมนตรีของประเทศอินเดียเข้าใจถึงความต้องการเวลาที่จะปรับปรุงแก้ไข และยอมรับถึงความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น จึงได้เปิดตัวโครงการหลายโครงการ เช่น ภารกิจสวาช บาราท การเคหะเพื่อมวลชน ฯลฯ ท่านมีวิสัยทัศน์เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งอินเดียกำลังประสบอยู่ขณะนี้
แผนงานทั้งสามแผนงานได้ดำเนินการทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามภายใต้ภารกิจ AMRUT ซึ่งเป็นแผนงานใหญ่อันดับ 4 ประกอบด้วย 500 เมือง ซึ่งมีประชากรในเมืองเกือบร้อยละ 65 กำลังได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แผนงานขนาดใหญ่เกือบ 780,000 ล้านรูปี (11,314,680,000 เหรียญสหรัฐฯ) และโครงการที่มีมูลค่า 720,000 ล้านรูปี (10,444,320,000 เหรียญสหรัฐฯ) นี้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบประปาและท่อน้ำทิ้ง หนึ่งในภารกิจภายใต้แผนงาน คือ การเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำทั้งหมดให้เป็นเครื่องสูบน้ำประหยัดพลังงานและการเปลี่ยนไฟถนนทั้งหมดให้เป็นหลอดแอลอีดี
แผนงานเมืองอัจฉริยะ คือการสร้างตัวอย่างให้เห็นว่าประเทศจะเป็นอย่างไรในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาตามแผนผ่านการปรับปรุงและแก้ไข โดยเมืองทั้ง 100 เมืองที่ถูกเลือกและกิจกรรมที่ถูกเลือกมาปรับใช้ในเมืองอัจฉริยะนั้น เป็นภาพสะท้อนถึงความปรารถนาของประชาชน นอกจากนี้ ประชาชนทั้ง 15 ล้านคน ยังได้รับการปรึกษาหารือเพื่อเตรียมแผนเมืองอัจฉริยะด้วย โครงการมูลค่า 600,000 ล้านรูปี (8,703,600,000 เหรียญสหรัฐฯ) ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ในขณะที่โครงการมูลค่า 70,000 ล้านรูปี (1,015,420,000 เหรียญสหรัฐฯ) เสร็จสิ้นแล้ว
แผนงานทั้งหมดมีการดำเนินงานอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการตอบสนองความฝันของประชาชนมากกว่าความท้าทาย หัวใจสำคัญของแผนงานเหล่านี้ คือ ประชาชนจะได้มีที่อยู่อาศัย เกิดการจ้างงาน และมีการสุขาภิบาลที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่จะมีสังคมและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการประสบความสำเร็จและพัฒนาประเทศให้เติบโตขึ้น และนี่คือการจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการที่จำเป็น
การจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการสิ้นเปลืองและสร้างความยั่งยืน ปัจจุบันงานทั้งหมดที่อยู่ในไซโล (Silo) ควรได้รับการดำเนินการไปพร้อมกัน เพื่อการพัฒนาของประเทศ โดยกระทรวงการเคหะและกระทรวงการพัฒนาเมืองต้องทำงานเป็นหนึ่งเดียวภายใต้แนวคิดนี้
ท่านเลขานุการ กระทรวงการเคหะและการกิจการเมือง เชื่อมั่นว่าเมื่อเข้าใจและนำแนวทางการจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการไปปรับใช้แล้วจะช่วยให้ประเทศอินเดียบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
การฝึกอบรมการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง เริ่มต้นด้วยการนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และแนวทางการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองโดยคุณ Ruth Erlbeck ผู้อำนวยการโครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซีย (Urban Nexus) ตามด้วยการนำเสนอจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการวิเคราะห์ความท้าทายที่สำคัญของอินเดียใน 4 ภาคส่วน ได้แก่ การจัดการขยะมูลฝอยชุมชน การจัดการมลพิษทางอากาศ การจัดการน้ำและน้ำเสีย และการเคหะเพื่อมวลชน
ผู้เข้าอบรมร่วมวิเคราะห์ความท้าทายเหล่านี้ และค้นหาวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมสำหรับเมืองที่ได้รับการคัดเลือก นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ความท้าทายของเมืองอย่างละเอียด โดยมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือระหว่างสถาบันและภายในสถาบันทั้งเชิงแนวดิ่งและแนวราบ
ผู้เข้าร่วมการอบรมได้เรียนรู้หัวข้อต่างๆ ดังนี้
– การระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและติดตามความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม
– ขอบเขตอำนาจและขอบข่ายด้านเทคนิค
– วิธีการเพิ่มความสามารถและศักยภาพของสถาบัน
– การเพิ่มคุณภาพการบริการและการเพิ่มประสิทธิภาพด้านทรัพยากรในบริบทของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
– วิธีการวางแผนแบบบูรณาการ ที่ช่วยหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีการประสานงานที่ไม่ดี และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ถูกใช้งานอย่างเต็มที่
– ความสัมพันธ์ของเมืองกับวาระแห่งโลก
ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากร ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้วิธีพัฒนาทักษะการฝึกอบรม หรือการเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาได้รับเทคนิคในการจัดฝึกอบรมเชิงโต้ตอบและวิธีการเป็นวิทยากรต้นแบบ นอกจากนี้พวกเขายังได้ฝึกฝนทักษะอย่างการดำเนินการอภิปรายด้วยกิริยาท่าทางที่เหมาะสมและการฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดี รวมทั้งยังได้รับเทคนิคการทำให้เห็นได้ด้วยภาพ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เข้าใจยาก และเรียนรู้วิธีการจัดการกับปัญหาที่วิทยากรมักประสบ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกอบรมการจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการที่จะต้องมีขึ้นโดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมต่อไป
ผู้เข้าร่วมอบรมกล่าวว่ามุมมองใหม่ๆ และทักษะที่ได้รับ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการทำงานของพวกเขา ผู้ที่มาจากสถาบันฝึกอบรมแสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินการฝึกอบรมการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองให้กับลูกค้าของพวกเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาครัฐในประเทศอินเดีย
“การฝึกอบรมการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง และการพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากร” จัดขึ้นภายใต้กรอบการทำงานของโครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซียของ GIZ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ICLEI South Asia) และสถาบันพัฒนาเมืองแห่งชาติ (NIUA)