การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคครั้งที่ 9 เรื่องการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเชีย ถูกจัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จตลอดระยะเวลา 6 ปีของการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการของ 12 เมืองในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้โครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซีย (Urban Nexus) ซึ่งดำเนินการโดย GIZ ร่วมกับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) และรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ICLEI) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จัดขึ้นในวันที่ 22-23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน จากประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมจากคู่เจรจาระดับภูมิภาคของการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ และศูนย์สิ่งแวดล้อมภูมิภาคของเอเชียกลาง (CAREC) ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่วมโครงการ
ดร. อเล็กซานเดอร์ เราโบลด์ ที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้า สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวเปิดการประชุมว่า “6 ปี ของความร่วมมือระหว่าง 12 เมือง และ 7 ประเทศในโครงการ ถือได้ว่าเราประสบความสำเร็จอย่างมาก โครงการด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภาคส่วนต่างๆ มากกว่า 55 โครงการ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ถูกนำเสนอต่อองค์กรทางการเงิน เช่น รัฐบาลในประเทศต่างๆ และองค์กรผู้ให้ทุน ส่วนโครงการลงทุนขนาดเล็กที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ก็ได้โอนให้เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการต่อ ภายใต้งบประมาณของตนเอง”
การประชุมเชิงปฏิบัติการทั้งสองวันนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลากหลายกลุ่มได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงาน ที่ประสบความสำเร็จของเมืองต่างๆ โดยการใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และการจัดการทรัพยากรโดยใช้แนวทางการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง ซึ่งมุ่งเน้นการบูรณาการการวางแผนและกระบวนการจัดการน้ำ พลังงาน อาหาร และที่ดินเข้าด้วยกัน เพื่อลดการสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ประเด็นสำคัญในการประชุม คือ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของเมือง หน่วยงานรัฐระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด ระดับประเทศ องค์กรระดับกลาง ภาคเอกชน องค์กรด้านการเงินระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา และการเชื่อมโยงกิจกรรมกับวาระแห่งโลก เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และความตกลงปารีส
การปกป้องรักษาอนาคตโดยเยาวชน นับเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงตลอดการประชุม ครู นักเรียนจากระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา รวมถึงนักเคลื่อนไหว ได้นำเสนอความคิดในเรื่อง “การปลูกฝังการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ส่วนกลุ่มเด็กนักเรียนเคลื่อนไหวในยุโรปและประเทศต่างๆ ภายใต้ชื่อ “วันศุกร์เพื่ออนาคต” ก็ได้สื่อออกมาอย่างชัดเจนว่า คนรุ่นใหม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อนและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนกันแล้ว ความหวังทั้งหมดตอนนี้อยู่กับเด็กรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อ และย้ำเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองถึงความรับผิดชอบต่ออนาคต พวกเขาต้องการการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาเพื่อดำเนินการหาทางแก้ปัญหา ปลุกให้นักการเมืองตื่นตัว ปลูกจิตสำนึก และกระตุ้นให้ลงมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสี่งที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน และเด็กรุ่นใหม่นี่แหละจะเป็นผู้เปลี่ยนโลก
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ “โครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซีย – การบูรณาการทรัพยากรเพื่อเมืองที่ยั่งยืน” ซึ่งได้รวบรวมความรู้ ความเชี่ยวชาญทั้งในทางปฏิบัติและทางเทคนิคจากการทำงานโครงการฯ ตลอด 6 ปี โดยผู้ชำนาญการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ทำงานเพื่อพัฒนาแนวทางการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง ซึ่งมีข้อมูลให้สำหรับเมืองที่สนใจ สามารถนำแนวทางนี้ไปประยุกต์ใช้ต่อได้ สามารถดูสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ได้ที่:
https://www.unescap.org/sites/default/files/UrbanNexusPublication_Web.pdf
ในโอกาสที่โครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซียใกล้จะสิ้นสุดลง อิมานี คูมาร์ รองเลขาธิการของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ICLEI) และผู้อำนวยการบริหารของ ICLEI เอเชียใต้ กล่าวว่า“นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นการเริ่มต้นของการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองต่างๆ”