ภาควิชาการและภาคเอกชนร่วมผลักดันการใช้นวัตกรรมและขยายการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจสำหรับริเริ่มการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง ในการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคครั้งที่ 8 เรื่อง “การใช้นวัตกรรมและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการสร้างรูปแบบธุรกิจบนแนวทางการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง” ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14-16 พฤศจิกายน พ.ศ.2561
Dr. Alexander Raubold ที่ปรึกษาฑูตฝ่ายเศรษฐกิจและการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย Mr. Stefanos Fotiou ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) และ Mr. Emani Kumar รองเลขาธิการ รัฐบาลท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน (ICLEI) World Secretariat ได้กล่าวเปิดการประชุม โดยมี ดร.วรภัทร์ อิงคโรจน์ฤทธิ์ ตัวแทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษ
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จัดขึ้นจากผลลัพธ์และข้อเสนอแนะจากการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคในครั้งก่อนๆ รวมทั้งการหารือระดับชาติของโครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซีย (Urban Nexus) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบเพื่อนสู่เพื่อน การนำเสนอเน้นย้ำเกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาลัยในด้านความยั่งยืน โครงการด้านความยั่งยืนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการสร้างผู้นำในอนาคตให้มีแนวคิดด้านความยั่งยืน ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีโอกาสเยี่ยมชมโครงการ จุฬาฯ มหาวิทยาลัยสีเขียว ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ในการประชุมยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างวิทยาลัย Bicol State College of Applied Sciences and Technology ประเทศฟิลิปปินส์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมทั้งได้มีประกาศเรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและความร่วมมือทางวิชาการภายใต้กรอบของโครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซียอีกด้วย
โครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซียเห็นว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 17 เรื่อง “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” กับสถาบันการศึกษานั้น เป็นเสมือนตัวขับเคลื่อนการพัฒนาความยั่งยืนของแนวทางการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง เนื่องจากนักเรียน ครูอาจารย์ ผู้ฝึกสอน เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมโดยหน้าที่ นอกจากนี้ ดร.วรภัทร์ อิงคโรจน์ฤทธิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้กล่าวอีกว่า “มหาวิทยาลัยเป็นห้องทดลองด้านนวัตกรรม”
ในระหว่างการประชุม เมืองที่ร่วมโครงการได้นำเสนอข้อมูลโครงการที่กำลังดำเนินงานอยู่ ในรูปแบบ “Market Place” ซึ่งผู้แทนของเมืองได้รับมอบหมายให้อยู่ที่สถานีของตนเอง ในลักษณะเดียวกับร้านค้าในตลาด ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมอื่นๆ ก็จะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม และเข้ามาเยี่ยมชมพร้อมฟังการนำเสนอโครงการของเมือง รูปแบบเช่นนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมได้มีการโต้ตอบพูดคุยกัน ซึ่งผู้เข้าฟังทำหน้าที่เสมือนผู้ซื้อ และตัดสินใจว่าจะซื้อโครงการที่นำเสนอหรือไม่
ภายหลังจากกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการประชุมการสร้างรูปแบบธุรกิจ โดยแบ่งเป็นการประชุมย่อย ได้แก่ การใช้นวัตกรรม การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการพัฒนาด้านการเงินที่ยั่งยืน ในการประชุม “การใช้นวัตกรรม” ได้พูดคุยถึงเรื่องนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง เช่น พลังงานใต้พิภพ วิธีการแก้ปัญหาที่อิงธรรมชาติ และอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในส่วนของการประชุมย่อย “การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ได้พูดคุยถึงเรื่องการถอดบทเรียน และข้อเสนอแนะในการขยายการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการใช้แนวทางการบูรณาการ ส่วนการประชุมย่อยเรื่อง “การพัฒนาด้านการเงินที่ยั่งยืน” ได้พูดคุยถึงเรื่องแหล่งเงินทุนของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานข้ามภาคส่วน ตลอดจนกลไกต่างๆ เช่น ภาษีท้องถิ่น ภาษีศุลกากร การโอนเงินและเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลระดับสูง พันธมิตรระหว่างภาครัฐและเอกชน และเงินทุนจากองค์กรนานาชาติ
ในช่วงท้ายสุด ได้มีการอภิปรายเรื่องการเชื่อมโยงกิจกรรมภายใต้การบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประสบการณ์จากระดับท้องถิ่นและระดับชาติในการวัดผลและติดตามความคืบหน้าการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และผู้ร่วมเสวนา ยังได้มีการนำแนวทางปฏิบัติที่ดีมาร่วมแบ่งปันด้วย
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากประเทศไทยและต่างประเทศประมาณ 100 คน ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นจากเมืองที่ร่วมโครงการ เจ้าหน้าที่ระดับประเทศของเมืองที่ร่วมโครงการ กระทรวงต่างๆ เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ