รัฐบาลท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน (ICLEI) ได้จัดประชุม World Congress ครั้งที่ 10 ขึ้นที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 19-22 มิถุนายน พ.ศ. 2561
การหารือในที่ประชุม ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ ได้แก่ 1) อนาคตของมนุษย์คือเมือง 2) เมืองกำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง 3) เมืองกำลังก้าวไปสู่ความเป็นสากลและมีส่วนร่วมมากขึ้นในวาระแห่งโลก (Global Agendas) 4) หากเมืองไม่ได้รับการปรับปรุง วาระแห่งโลกก็จะไม่บรรลุผลสำเร็จและโลกก็จะไม่ถูกพัฒนา 5) แนวคิดเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานที่ถูกต้องและเหมาะสมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง และ 6) การรวมกลุ่มพันธมิตรผู้มีส่วนได้เสียนับเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน
ในขณะที่แถลงการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมต่างแสดงเจตนารมณ์ในที่ประชุม ซึ่งกระตุ้นให้เกิดพลังและการเสริมสร้างอำนาจของเมืองเนื่องจากผู้เข้าร่วมมีเป้าหมายในการเดินหน้าพัฒนาเมืองและค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนร่วมกัน
มุมมองที่น่าสนใจอย่างมากของการประชุมครั้งนี้ คือ การอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการปรองดองกับกลุ่มชนพื้นเมืองของประเทศแคนาดาที่บรรลุผลสำเร็จ การอภิปรายเน้นประเด็นเรื่องที่ดิน และ”การปฏิวัติ” ทางวัฒนธรรม โดยต่างฝ่ายต่างพยายามที่จะเข้าใจในคุณค่าของกันและพยายามที่จะบูรณาการโดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของตัวเอง ส่งผลทำให้เกิดบรรยากาศการที่มุ่งดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อไป
ประเด็นเกี่ยวกับเพศได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ในวาระการประชุมของ Valery Plante นายกเทศมนตรีแห่งมอนทรีออล ซึ่งกำลังเรียกร้องให้ผู้หญิงเข้ามาสมัครรับเลือกตั้งในอัตราร้อยละ 50 และสนับสนุนแนวคิดแบบ “she for she” ซึ่งหมายถึงว่าผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จก็ควรสนับสนุน “พี่สาวน้องสาว” ของพวกเขาด้วย เพราะผู้หญิงยังคงขาดผู้นำต้นแบบจนถึงขณะนี้
หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกที่อยู่ในกลุ่ม C40 มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ให้ได้ภายในปีพ.ศ. 2593 ซึ่งความมุ่งมั่นนี้เปรียบเสมือนตัวเร่งให้เมืองต่างๆ รีบแก้ไขและพัฒนาการคมนาคมขนส่งและอาคาร
Ashok Sridharan ในฐานะที่เป็นประธานรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน (ICLEI) และรับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี ได้แสดงเจตจำนงที่จะดำเนินการตามพันธสัญญารัฐบาลท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืนแห่งมอนทรีออล (ICLEI Montreal ) และยุทธศาสตร์ปี พ.ศ. 2561-2567 ที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่เมืองทั่วโลกและสร้างความปลอดภัยให้กับอนาคตอย่างยั่งยืน และนี่คือการแสดงความมุ่งมั่นของ ICLEI ที่จะดำเนินงานด้านการปล่อยมลพิษต่ำ การรักษาสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน การฟื้นตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเป็นธรรมและการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ด้าน Valery Plante นายกเทศมนตรีแห่งมอนทรีออล ก็ได้ให้ความสำคัญกับ “การมีส่วนร่วมของประชาชน การลดมลพิษและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ในส่วนของโครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซีย (Urban NEXUS) ของ GIZ ก็ได้ส่งเสริมแนวทางสนับสนุนด้านการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง
รูธ เอิร์ลเบค ผู้อำนวยการโครงการ Urban Nexus ได้กล่าวว่า “น้ำคือชีวิต หากน้ำเกิดการปนเปื้อนก็อาจหมายถึงการสูญเสียชีวิต” รูธเน้นย้ำว่าการประปาต้องพิจารณาเรื่องการจัดการน้ำเสียอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเรานำน้ำประปามาใช้เพื่อการบริโภค การประปา การจัดการน้ำเสียและการสุขาภิบาลล้วนสัมพันธ์กัน แต่สิ่งเหล่านี้มักถูกละเลยจากผู้กำหนดนโยบายและองค์กรพัฒนาต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหารุนแรง ภายหลังจากการดำเนินโครงการด้านการจัดหาน้ำต่างๆ ซึ่งเพิ่มการจัดหาน้ำมากขึ้น โดยปราศจากการเสนอแนวทางแก้ปัญหาของการปล่อยน้ำเสียหรือนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่
การรั่วไหลของน้ำถึงร้อยละ 50 หรือมากกว่านี้ในระบบการประปาบางแห่งของเมืองต่างๆ (เช่น ในประเทศเม็กซิโก เมืองลากอส ฯลฯ ) เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดวิกฤติน้ำมากขึ้น (สาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะภัยแล้ง)
การใช้น้ำบาดาลอย่างไม่รู้คุณค่า โดยไม่มีการสำรองน้ำไว้เพียงพอ และปราศจากความรู้ในด้านการสำรองน้ำบาดาลที่มีอยู่ ก่อให้เกิดภาวะยุบตัวของเมือง (เช่น ในจาการ์ตา) และการรุกล้ำของน้ำเค็มในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและในเมือง ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำและความแห้งแล้ง (เช่น ในกรุงปักกิ่ง อูลานบาตอร์ เป็นต้น) เหตุที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมาจากการบริหารจัดการน้ำและน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ
นอกจากการนำเสนอแนวทางสนับสนุนด้านการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง รูธ เอิร์ลเบค ผู้อำนวยการโครงการ Urban Nexus ยังได้นำเสนอ “การนำแนวทางการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองมาประยุกต์ใช้: การปรับใช้วาระแห่งโลกในระดับท้องที่และการส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือของสถาบันเชิงแนวดิ่ง โดยอิงประสบการณ์จากเมืองในเอเชีย”
แนวทางการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง ซึ่งถูกดำเนินงานกับเมืองต่างๆ ใน 7 ประเทศของเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม มีจุดมุ่งหมายในการทำงานร่วมกันทั้งในภาคน้ำ อาหารและพลังงาน โครงการฯ ร่วมมือกับกระทรวงระดับประเทศที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานด้านการประปาและระบบสุขาภิบาลให้มีความปลอดภัย การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การใช้ประโยชน์ที่ดิน การวางแผนลักษณะทางกายภาพ และความมั่นคงด้านอาหาร นอกจากนี้ การใช้แนวทางการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง สามารถนำมาปรับใช้กับวาระต่างๆ ทั่วโลกในระดับท้องที่ เช่น ระเบียบวาระการประชุมเมืองใหม่ ข้อตกลงปารีสปี พ.ศ. 2558 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ตัวอย่างโครงการนำร่องในเมืองนาคปุระ ประเทศอินเดีย และเมืองนาคะ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งใช้แนวทางบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง ได้ถูกนำมาแบ่งปันให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการน้ำเสียเชิงนวัตกรรม ด้วยการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ การประหยัดน้ำและพลังงานตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 7 วัน เทคโนโลยีที่อยู่อาศัยที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในราคาที่จ่ายไหว การจัดการขยะมูลฝอยที่เน้นการลด การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการวางแผนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
ความท้าทายต่างๆ ที่เมืองต้องเผชิญในการแสวงหาการจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการ (Urban Nexus) ครอบคลุมเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางบูรณาการและนวัตกรรม รวมทั้งวิธีการเจรจาในระดับท้องถิ่นและประเทศที่นำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบูรณาการความร่วมมือของสถาบันเชิงแนวดิ่ง
การหารือช่วงสุดท้าย เน้นย้ำว่าเมืองต่างๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับวาระระดับโลกเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามเมืองเหล่านี้ อาจไม่ได้ตระหนักถึงความจริงที่ว่าโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขาที่จะปรับปรุงบริการในเมืองนั้น เป็นส่วนสำคัญในการนำวาระโลกต่างๆมาปฏิบัติในระดับท้องที่ ซึ่งในท้ายที่สุดสิ่งที่สำคัญ ก็คือ การปรับปรุงบริการในเมืองรวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน วิธีการจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการ (โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในภาคส่วนต่างๆ) และการคิดนอกกรอบ