ความเป็นมา
ข้าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ และการทำนาในประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 55 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ทำให้การทำนาข้าวของประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกจากนี้การขังน้ำในนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทานทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งมีศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า อีกทั้งการขาดแรงจูงใจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวนาไทยไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมไปสู่การผลิตข้าวแบบใหม่ที่ปล่อยมลพิษต่ำ
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าว และปรับเปลี่ยนสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ
แนวทางการดำเนินงาน
กลยุทธ์ที่ 1 – เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ: โครงการฯ จัดฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกและแนวทางการทำนาแบบยั่งยืน และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาผ่านการจัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา วิธีนี้สามารถสร้างรายได้ที่มากขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การจัดการที่มีประสิทธิภาพสำหรับปัจจัยทางการเกษตร (เช่น การประหยัดน้ำ และพลังงานจากการสูบน้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงฯลฯ) และการเชื่อมโยงตลาดในการขายข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ
กลยุทธ์ที่ 2 – บริการเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ: โครงการฯ สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจโดยใช้ประโยชน์จากโครงการสินเชื่อสีเขียวสำหรับการลงทุน เพื่อให้บริการด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำแก่เกษตรกร เช่น การปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการจัดการฟางและตอซัง
กลยุทธ์ที่ 3 – การกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุน: โครงการฯ สนับสนุนการดำเนินการพัฒนารูปแบบและกลยุทธ์การขยายผล การพัฒนามาตรฐานข้าวยั่งยืนบนพื้นฐานของมาตรฐานเวทีข้าวยั่งยืน (SRP) และการบูรณาการโครงการเข้ากับแผนปฏิบัติงาน และงบประมาณของรัฐบาลไทย
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
- จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ คณะทำงานฯ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ระดับจังหวัดจำนวน 6 จังหวัด
- พัฒนาแผนการดำเนินงานสำหรับเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนา (การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการจัดการฟางและตอซัง) รวมทั้งการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน
- จัดกิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมการทำนาแบบยั่งยืนและลดโลกร้อน
- จัดฝึกอบรมชาวนาต้นแบบ (smart farmer) 4,600 คน ในกว่า 2,500 หมู่บ้าน
- ชาวนากว่า 96,000 ครัวเรือน ได้รับการส่งเสริมและปรับใช้แนวทางปฏิบัติตามเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของชาวนาบนพื้นที่การปลูกข้าวเขตชลประทาน เป็นพื้นที่ประมาณ 1,997,000 ไร่
- ช่วยให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมลงกว่า (มีเทน: CH4) 915,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ในปี พ.ศ. 2565
- จัดฝึกอบรมการตรวจวัด การรายงานผล และการทวนสอบ (MRV) แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ
- พัฒนายุทธศาสตร์ตลาดข้าวยั่งยืนและจับคู่กับคู่ค้า
- พัฒนามาตรฐานข้าวยั่งยืนของประเทศไทย โดยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ความเห็นชอบให้มาตรฐานข้าวยั่งยืนเป็นมาตรฐานทั่วไป ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565
สนับสนุนงบประมาณโดย
Mitigation Action Facility
ประเทศ
ประเทศไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
สิงหาคม 2561 – กรกฎาคม 2566
รับชมวิดีโอเกี่ยวกับโครงการ
- ป.ปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling)
- การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ลดต้นทุน ลดแมลง ลดโลกร้อน
- การจัดการปุ๋ยด้วยการวิเคราะห์ดิน
- การไถกลบตอซังและฟางข้าว
- 4 เทคนิคปลูกข้าวให้ได้กำไร – Thai Rice NAMA (Eng Subtitle)
- 4 low-carbon farming techniques bring happiness into your life
- Thai farmer: ‘my action alone doesn’t bring success in slowing down climate change’
ข้อมูลเพิ่มเติม
Thai Rice NAMA | Sustainable Agrifood System in ASEAN (asean-agrifood.org)