BACKGROUND
ความมั่นคงทางอาหารที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ ถูกสุขอนามัย ในปริมาณที่เพียงพอ เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เพื่อสร้างสุขภาวะและสุขภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งนี้เกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของประชาคมอาเซียน ความมั่นคงทางอาหารในประชาคมอาเซียนจึงต้องมีระบบการผลิต อาหาร-เกษตรที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในแง่ของการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และมีการแข่งขันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพภายในชุมชนภาคการเกษตรเอง และในขณะเดียวกันสามารถผลิตอาหารที่เป็นอาหารหลักได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของประชาคมอาเซียนด้วย
โครงการระบบ อาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียนมุ่งเน้นเพื่อหาทางออกให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในประชาคมอาเซียนในระยะยาวโดยความร่วมมือของประชาคมอาเซียนในการพัฒนาจัดทำนโยบายและแผนกลยุทธ์เพื่อการทำการเกษตรที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่มูลค่าอย่างครอบคลุมรอบด้าน ทั้งผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มวิสาหกิจการเกษตร เกษตรกร และสมาคมภาคเอกชนอื่นๆ จากโครงการนำร่อง ได้มีการพัฒนาการทำการเกษตรที่ว่าด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิตและแนวทางปฎิบัติที่ใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในหมู่เกษตรกร และด้วยแนวคิดนี้ โครงการฯ ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน และ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี พศ. ๒๕๕๘ และจากนี้ต่อไป
วัตถุประสงค์
โครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานตามกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน โดยมุ่งเน้นการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนในระดับประเทศ
หัวข้อการดำเนินงาน
โครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน (๒๕๕๗-๒๕๖๐) มีการพัฒนาต่อยอดจากโครงการควบคุมศัตรูพืชสำหรับพืชอาหารโดยชีววิธีในภูมิภาคอาเซียน (๒๕๕๔-๒๕๕๖) โดยมีหัวข้อหลักในการดำเนินงาน ๓ หัวข้อ ได้แก่:
- กำหนดกรอบนโยบาย: ร่วมประสานพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ และประชุมหารือด้านความยั่งยืนของภาคอาหาร-เกษตร-ในระดับภูมิภาค
- ส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตที่ยั่งยืน: ส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและการบริหารจัดการพืชอย่างยั่งยืนผ่านการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพ
- เชื่อมโยงเครือข่ายสู่ตลาด: ส่งเสริมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับภาคเอกชน
แนวทางดำเนินงาน
โครงการฯเป็นโครงการระดับภูมิภาคที่มีสำนักงานโครงการอยู่ในประเทศภาคีอาเซียน 6 ประเทศ (กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, เมียนม่าร์, ไทย, และเวียดนาม) โดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและต่างประเทศให้คำแนะนำการจัดทำโครงการนำร่องของแต่ละประเทศในอาเซียน และจัดเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้ข้อคิดเห็นระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม เพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิกภาคี
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)