ความเป็นมา
การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างยั่งยืนและฉลากสิ่งแวดล้อมได้รับความสำคัญอย่างมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยการสนับสนุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ทำให้ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละประเทศมีความก้าวหน้าในการดำเนินการที่แตกต่างกัน
ด้วยกำลังซื้อมหาศาลของภาครัฐจึงมีศักยภาพสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและฉลากสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน ประสบการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงสามารถถ่ายทอดหรือขยายผลโดยตรงจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้ โดยประเทศไทยมีบทบาทเป็นผู้บุกเบิกและสามารถช่วยสนับสนุนประเทศอื่นๆในภูมิภาค ในขณะที่เวียดนามได้มีจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมและกำหนดฉลากสิ่งแวดล้อมในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศกัมพูชา ลาว ภูฏาน และเมียนมากำลังเริ่มต้นกระบวนการนี้ แต่ยังไม่มีประเทศใดมีการจัดตั้งฉลากสิ่งแวดล้อม และผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือพัฒนากลยุทธ์เพื่อบูรณาการเกณฑ์ความยั่งยืนในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
วัตถุประสงค์
เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการพัฒนาและกำหนดเครื่องมือนโยบายและกรอบนโยบายในขอบเขตของการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน (SCP) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉลากสิ่งแวดล้อม รวมถึงเครื่องมืออื่นๆที่มีส่วนช่วยในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการจะสนับสนุนการพัฒนาและการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมและรูปแบบ SCP โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในประเทศกำลังพัฒนาห้าประเทศดังกล่าวโดยการสนับสนุนจากประเทศไทย กิจกรรมของโครงการจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทและแนวทางการดำเนินงานด้าน SCPของแต่ละประเทศ
กิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของโครงการฯมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน รวมถึงการจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้ความรู้ทางวิชาการแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ การถ่ายทอดความรู้ และการร่างแผนการแก้ปัญหาเชิงนโยบายแบบบูรณาการในระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค รวมถึงการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับฉลากสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การวางแผนงานสนับสนุนหน่วยงานผู้ร่วมดำเนินการโครงการฯในประเทศต่างๆ ด้วยการบูรณาการเกณฑ์การเป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศและคาร์บอนต่ำในฉลากสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาขีดความสามารถและการสร้างความตระหนัก ซึ่งจะมีการจัดฝึกอบรมผู้ถ่ายทอดความรู้ และการวิเคราะห์ตัวอย่างที่ดีด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างยั่งยืน
โครงการสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ส่งเสริมการร่างกรอบกฎหมาย จัดตั้งระบบการสื่อสาร และวางแผนกลไกแรงจูงใจที่เหมาะสมให้กับเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างยั่งยืนและระบบฉลากสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศเป้าหมายคำนึงถึงสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ
- จัดเตรียมวางแผนกลยุทธ์สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างยั่งยืน
- สนับสนุนฉลากสิ่งแวดล้อม (ประเภทที่ 1) ในประเทศที่เข้าร่วมโครงการให้ได้มาตรฐานสากล
- ยกระดับความร่วมมือ ข้อตกลงของฉลากสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศในกลุ่มเป้าหมาย
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
ประเทศ
ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และภูฎาน
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
ไทย: กรมควบคุมมลพิษ, ภูฎาน: คณะกรรมาธิการความสุขมวลรวมประชาชาติ, กัมพูชา:สภาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน, สปป.ลาว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เมียนมา: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเวียดนาม: กระทรวงการวางแผนและการลุงทุน
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
มีนาคม พ.ศ. 2563 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567