GIZ และธนาคารโลกผนึกกำลังสนับสนุน สปป.ลาว เรียนรู้จากประสบการณ์ของญี่ปุ่นในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและฉลากสิ่งแวดล้อม
สปป.ลาว อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินนโยบายจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ (Green Public Procurement: GPP) และฉลากสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะดำเนินกิจกรรมตามแผนงานและจัดตั้งโครงสร้างเชิงสถาบัน การแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศที่ก้าวหน้ากว่านั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความท้าทายที่ต้องเผชิญในการเริ่มดำเนินงาน GPP และฉลากสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทางโครงการ “การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production – SCP) ในเอเชีย – the Next 5 (SCP Outreach)” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน (BMUV) และดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมมือกับธนาคารโลก จึงจัดศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 25-29 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะศึกษาดูงานประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล 12 คน จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการเงิน กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ และกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของ สปป.ลาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานด้าน GPP ฉลากสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งด้านนโยบายของญี่ปุ่น แนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงรับฟังประสบการณ์ตรงในการจัดตั้งสถาบันสำหรับการดำเนินงาน GPP และฉลากสิ่งแวดล้อม
การเรียนรู้เริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบนโยบาย กฎหมายการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากนี้ ยังมีการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม Japan Eco Mark มากว่า 30 ปี เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ ประเมิน และสื่อสารกับผู้บริโภค ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้จากหน่วยงานท้องถิ่นของเมืองโยโกฮาม่า ซึ่งมีการดำเนินนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100%
นอกจากนี้ ทางคณะยังได้พบปะกับภาคเอกชนเพื่อรับฟังมุมมองของผู้ผลิตเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน (SCP) โดยได้เข้าเยี่ยมชมโรงแรมอิมพีเรียลโตเกียว (Imperial Hotel Tokyo) ซึ่งได้รับการรับรองจาก Japan Eco Mark ว่าเป็นโรงแรมที่จัดการด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการนำหลักการ ‘3R’s (Reduce, Reuse และ Recycle) มาใช้อย่างยาวนาน มีการแยกขยะออกเป็น 20 ประเภท และการเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า อีกกรณีที่ประสบความสำเร็จคือแคนนอน (Cannon Inc.) บริษัทผลิตเครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องพิมพ์โดยใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุรียูสที่นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านการผลิตที่ยั่งยืนของบริษัท
หลังการศึกษาดูงาน ทางคณะผู้เข้าร่วมได้ถอดบทเรียนจากการเดินทางครั้งนี้ออกเป็นหลากหลายประเด็น ได้แก่ ความรู้และประสบการณ์เชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนากรอบกฎหมายและกฎกระทรวง การปรับคู่มือการจัดซื้อจัดจ้างและเอกสารประกวดราคา ตลอดจนการจัดทำรายการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดซื้อจัดจ้าง ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้ว่ากุญแจสู่ความสำเร็จอยู่ที่การสร้างความตระหนักและการเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ในขณะเดียวกันการสื่อสารที่ชัดเจนและสม่ำเสมอกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถของคณะทำงานด้านเทคนิค ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินงาน GPP และฉลากสิ่งแวดล้อมให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน
อัลบั้มภาพ
มร. ไค ฮอฟมันน์
อีเมล:kai.hofmann1(at)giz.de