โครงการ SCP Outreach จัดงานแลกเปลี่ยนความรู้ระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างยั่งยืนและฉลากสิ่งแวดล้อม
กรุงเทพฯ 29 สิงหาคม 2566 – โครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย (ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และภูฏาน) (SCP Outreach Asia – The Next Five) จัดงานแลกเปลี่ยนความรู้ระดับภูมิภาค ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจาก 12 องค์กรได้มาร่วมประชุมระหว่างวันที่ 29 – 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่โรงแรมแมริออท กรุงเทพฯ สุขุมวิท งานนี้จัดเป็นประจำทุกปีโดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม ภูฏาน และศรีลังกา ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินการด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างยั่งยืนและฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 พร้อมแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการยกระดับกรอบนโยบายเพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SCP)
นายเจนจบ สุขสด ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการวิเคราะห์มลพิษและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายถึงบริบทและความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ว่า “เดือนที่แล้วองค์การสหประชาชาติได้ประกาศว่ายุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลงและยุคโลกเดือดได้มาถึงแล้ว โดยเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 เป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งพวกเราทุกคนล้วนมีส่วนในการสร้างปรากฏการณ์ดังกล่าว แม้เราจะไม่สามารถหยุดการบริโภคทรัพยากรบนโลกที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนวิธีการบริโภคและการผลิตเพื่อที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยทั้งหมดนี้เรียกว่าการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน(SCP) ซึ่งเป็นในเป้าหมาย ข้อที่ 12 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ”
นายเจนจบกล่าวเสริมว่า “ในระดับภูมิภาคนั้น SCP ถือเป็นประเด็นสำคัญต่อประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนและภาคี ดังที่ได้มีการเน้นย้ำในการประชุมระดับรัฐมนตรีในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายครั้ง ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกได้ปฏิบัติตามระเบียบวาระของภูมิภาคโดยเน้นการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมาตลอด 18 ปี เมื่อปีที่แล้ว ไทยได้บรรลุมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืนในกลุ่มเป้าหมายถึง 49% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 2000 ตัน”
ดร. อุล์ฟ เยคเคล หัวหน้าแผนก T III 2 ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปและระดับสากล ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) กล่าวเน้นย้ำถึงบทบาทหลักและผลงานของ SCP ว่า “SCP เป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้ให้เห็นถึงประเด็นและความท้าทายที่เราต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ การอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบอาหารนั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการการพัฒนาเพื่อรองรับประชากรจำนวนมหาศาลและยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับทรัพยากรและที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัด ความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นได้สร้างแรงกดดันต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและการบริโภคเพื่อเป็นแนวทางบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
นายไค ฮอฟมันน์ ผู้อำนวยการโครงการ SCP ภายใต้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน(GIZ) กล่าวถึงภาพรวมของการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืนและฉลากสิ่งแวดล้อมในการบรรยายหัวข้อ “เครื่องมือเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐที่ยั่งยืนและฉลากสิ่งแวดล้อมเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน” ว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นเป็นเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่การจัดการขยะหรือการรีไซเคิล มาตรฐานที่มีการบังคับใช้หรือที่มีผู้ปฏิบัติตามด้วยความสมัครใจนั้นจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น โดยฉลากสิ่งแวดล้อมจะช่วยกระตุ้นการขายสินค้าเหล่านี้ และการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืนจะช่วยขยายตลาดให้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงควรใช้เครื่องมือเหล่านี้ร่วมกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ชัดเจน”
ตลอดสองวันของการประชุมได้มีการบรรยายและการเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ถึงข้อมูลเชิงลึกทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติในการนำ SCP มาลงมือปฏิบัติโดยมุ่งเน้นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างยั่งยืนและฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 รวมไปถึงวิธีที่จะใช้เครื่องมือเพื่อช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภคสินค้าที่ยั่งยืนไปพร้อมกับสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมป้อนสินค้าเหล่านี้เข้าสู่ตลาด การประชุมนี้ออกแบบให้ผู้ร่วมงานได้มีปฏิสัมพันธ์กันและมีส่วนร่วมกับงาน โดยยังเปิดโอกาสให้ไปศึกษาดูงานที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) และโรงแรมศิวาเทลอีกด้วย