กรุงเทพฯ, 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565 – กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ระดับภูมิภาคในหัวข้อ “Reduce! – From More to Better – Circular Economy for Sustainable Products in Southeast Asia (SEA)” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการอภิปรายเรื่องการขยายอายุของผลิตภัณฑ์ (Product Lifetime Extension-PLE) ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และจะมีส่วนช่วยในการพัฒนากลยุทธ์เพื่อปรับการดำเนินงานด้าน PLE ให้เหมาะสมที่สุดในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (พ.ศ. 2563) ได้กำหนดเป้าหมายในการสร้างชุมชนให้ “สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ด้วยการกำหนดกลไกเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร ดังนั้นการบูรณาการการดำเนินงานด้าน PLE เข้าสู่นโยบายปัจจุบันที่เกี่ยวกับการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนอย่างยั่งยืน (SCP) ในอาเซียนจะส่งผลดีและมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายของวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (พ.ศ. 2563) ไปพร้อมๆกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมาย SDG12 (การสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน) ที่มุ่งเน้นการนำเอารูปแบบการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับปรับปรุงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนามาตรฐานของสินค้าและข้อมูลของผู้บริโภคด้านความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานว่า “เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการปรับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ถือเป็นจุดแข็งของประเทศ มาสร้างห่วงโซ่คุณค่าให้กับสินค้าและบริการให้มีคุณภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
นอกจากนี้ นายปิ่นสักก์ยังได้เสนอแนะการนำโมเดล BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) หรือที่เรียกว่าโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาปรับใช้กับประเทศไทย โดยกล่าวว่า “โมเดล BCG จะเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยในทศวรรษข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความมั่นคงทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ เราได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด ลดการผลิตของเสียอย่างเป็นระบบเพื่อรักษาทรัพยากรของประเทศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรลงสองในสามของอัตราปัจจุบัน ลดขยะลง 16.5 ล้านตัน รวมถึงการต่อสู้กับปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่อุตสาหกรรมพลาสติก ผลิตภัณฑ์ ICT อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหรือสิ่งทอ ตลอดจนอุตสาหกรรมก่อสร้าง”
ดร.อุล์ฟ แย็กเคล อดีตหัวหน้าแผนกการบริโภคอย่างยั่งยืนและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) กล่าวว่า “แผนการปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรปและการริเริ่มผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน นับเป็นนโยบายหลักของเยอรมนี ในประเทศเยอรมนีเราได้พัฒนาแผนที่นำทางและแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยระบุถึงการปฏิรูปต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยการรวบรวมเครื่องมือที่เกี่ยวกับข้อมูลของผู้บริโภค เช่น ฉลากสิ่งแวดล้อม Blue Angel การเสริมสร้างความโปร่งใสของตลาดผ่านรูปแบบดิจิทัล การสนับสนุนโมเดลธุรกิจหมุนเวียน (Circular business model) ที่ส่งเสริมการหมุนเวียนของทรัพยากรให้แคบลงเพื่อลดการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด ลดการสร้างขยะและมลภาวะให้ได้มากที่สุด ตลอดจนสนับสนุนเครื่องมือกำกับดูแล เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศภาคบังคับ และอื่นๆ อีกมากมาย ท้ายที่สุดเป้าหมายของเรา ก็คือ การหลีกเลี่ยงการสร้างขยะและมลภาวะให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดความยั่งยืน”
นอกจากนี้ ดร.อุล์ฟ ยังแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์บางประการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยกล่าวว่า “ในสมัยก่อน บริษัทจะผลิตสินค้าเพื่อนำมาขายเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงว่าจะต้องมีการดูแลหรือรับผิดชอบภายหลังจากการขาย (…) และในไม่ช้า พวกเขาก็จะเน้นขายแค่ความคล่องตัวให้กับคุณ ไม่ใช่ที่คุณภาพของตัวรถ เรื่องนี้ผมแค่อยากจะสะท้อนให้เห็นว่า คุณค่าและความเป็นเจ้าของรถจะคงอยู่กับตัวบริษัทได้ก็ต่อเมื่อ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดสูงสุดตลอดวงจรชีวิตของสินค้าเหล่านั้น”
ดร.อุล์ฟ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยการเน้นย้ำถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า “ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน บริษัทต่างๆ สามารถลดต้นทุนและสามารถขายการบริการได้มากขึ้น และหากคำนวณมูลค่าแล้ว ตลาดทั่วโลกที่มีการขายสินค้าและบริการที่ยั่งยืน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์ต่อปี ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ ถือเป็นสินค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการผลิตของเยอรมนี จึงส่งผลให้การผลิตไฮโดรเจนและแบตเตอรี่เป็นตัวเพิ่มโอกาสในการลงทุนที่มหาศาล ดังนั้นการพัฒนาโมเดลธุรกิจหมุนเวียนสำหรับวัสดุอย่าง “ธาตุหายาก” (Rare-Earth) จึงมักถูกใช้ในเทคโนโลยีดังกล่าว และส่งเสริมให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย ตลอดจนเกิดการสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
ในระหว่างการประชุมได้มีการเปิดตัวโครงการใหม่ คือ Scaling SCP โครงการนี้เป็นการสนับสนุนที่ยั่งยืนของรัฐบาลเยอรมนีให้กับประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ 160 ปีของสองประเทศ โครงการ Scaling SCP จะดำเนินการในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตราย โครงการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนามาตรฐานสำหรับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องปรับอากาศและศูนย์ข้อมูล ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะได้รับการรับรองโดยฉลากเขียวเพื่อให้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับผู้บริโภค และรัฐบาลจะจัดซื้อสินค้าและบริการสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เกิดการขยายตัวของตลาด เกณฑ์ผลิตภัณฑ์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยมลพิษจากผลิตภัณฑ์และยืดอายุการใช้งาน
การประชุมครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย (SCP Outreach) โครงการการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน: ฉลากสิ่งแวดล้อมและการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ เส้นทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอาเซียน (Scaling SCP) และโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) โดยโครงการมุ่งสนับสนุนการพัฒนากรอบนโยบายในขอบเขตของการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (SCP) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ภูฎาน อินโดนีเซียและมาเลเซีย