ความเป็นมา
ขยะทะเลเป็นปัญหาท้าทายระดับโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ การประมง และการท่องเที่ยว บรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น หลอด ถุงพลาสติก ส่งผลให้เกิดขยะทะเลในปริมาณมาก เอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้มีขยะที่ไหลลงสู่ทะเลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ทวีปเอเชียได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตพลาสติกมากถึงร้อยละ 50 ของโลก
ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคมและผู้บริโภค ตระหนักถึงความจำเป็นในการดำเนินการและการริเริ่ม เช่น ในที่ประชุม G20 การประชุมสหประชาชาติ และอาเซียน รวมถึงในสหภาพยุโรปที่นำเสนอยุทธศาสตร์ยุโรปเพื่อพลาสติก การประชุมหารือแลกเปลี่ยนที่ยังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องรวมถึงความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโอกาสดำเนินงานร่วมกัน
วัตถุประสงค์
เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้เพื่อลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเล ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมีการใช้และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้นโดยผ่านกระบวนการ 3R ประกอบไปด้วย การลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล
โครงการฯ สนับสนุนความร่วมมือการดำเนินงานระหว่างสหภาพยุโรป (EU) และ 7 ประเทศภาคี ภายใต้หัวข้อเศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดการขยะพลาสติก
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการฯ สนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะกับประเทศภาคีในด้านต่างๆ ดังนี้
- การจัดการขยะพลาสติก โดยผลักดันให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ (EPR) อีกทั้งจัดทำโครงการวางมัดจำบรรจุภัณฑ์ (DRS) และผลิตภัณฑ์พลาสติก
- การบริโภคและผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำมากลับมาใช้ (Reuse) และหมุนเวียน (Recyclability)
- การลดปริมาณขยะ ณ แหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเล เช่น พื้นที่รับขยะจากเรือ บริเวณท่าเรือต่างๆ การเก็บขยะหรือการ (ตก) ขยะ (Fishing-for-litter schemes)
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังสร้างความตระหนักรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐและสาธารณชนในด้านการบริโภคและการผลิตพลาสติกที่ยั่งยืนและผลกระทบของขยะในทะเลที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการหารือเชิงนโยบายระหว่างสหภาพยุโรป องค์กรระดับภูมิภาคและประเทศภาคีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับการผลิตและการจัดการพลาสติก ในประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์เน้นความร่วมมือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กว่า 20 โครงการนำร่องในประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนามได้ทดลองวิธีการใหม่ๆ หรือพัฒนาต่อยอดแนวปฏิบัติการจัดการขยะพลาสติกที่มีอยู่ การบริโภคและผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน และการลดปริมาณขยะ ณ แหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเล โดยครอบคลุมไปถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการและการประชุมสัมมนาออนไลน์ การศึกษาดูงาน และการรณรงค์
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
ในประเทศไทย โครงการฯ สนับสนุนการหารือและการพัฒนานโยบายและความร่วมมือกับภาคีต่างๆ ในการหาแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
โครงการฯ สนับสนุนกรมควบคุมมลพิษในการดำเนินการตามบันทึกความร่วมมือ (MoU) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากบริการส่งอาหาร ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 โครงการได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหารและซื้อกลับบ้าน” เพื่อการกำหนดความต้องการและการดำเนินงานในขั้นต่อไป
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภายใต้หัวข้อในส่วนของการผลักดันให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ (EPR) ซึ่งรวมถึงผู้เก็บรวบรวมขยะรีไซเคิลนอกระบบ (Informal Sector) โดยในปี พ.ศ. 2564 ได้มีการจัดโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ EPR ซึ่งประกอบด้วยผู้เข้าร่วมกว่า 300 รายและยังมีการเสนอกรอบแนวคิดนโยบายของ EPR สำหรับขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย
โครงการนำร่องที่ดำเนินการในประเทศไทยประกอบด้วย
- การรีไซเคิลระดับครัวเรือนที่เหมาะสมในจังหวัดระยอง ชุมชนท้องถิ่น โรงเรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติก ได้มีส่วนร่วมในการคัดแยกและเก็บรวบรวมขยะพลาสติกให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการยกระดับอัตราการรีไซเคิล และลดการรั่วไหลของพลาสติกลงสู่ทะเล
- หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับเกาะลิบง จังหวัดตรัง มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีหญ้าทะเลมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพะยูน เพื่อให้เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลเอาไว้ โครงการนำร่องได้ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นและภาคการท่องเที่ยวเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดขยะพลาสติก และให้มีการจัดการขยะพลาสติกให้ดียิ่งขึ้น
- การลดขยะพลาสติกในจังหวัดภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ในฐานะที่เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายที่จะลดและจัดการปริมาณขยะพลาสติกในภาคธุรกิจและครัวเรือนให้ดียิ่งขึ้น โดยมีการใช้วัสดุทางเลือกแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในภาคบริการส่งอาหารและภาคการท่องเที่ยว
- การส่งเสริมระบบการจัดการของเสียจากเรือ ท่าเรือกรุงเทพ โครงการนำร่องพัฒนาระบบการจัดการของเสียจากเรือแบบออนไลน์เพื่อปรับปรุงระบบการจัดการของเสียที่ท่าเรือกรุงเทพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และก้าวไปสู่การพัฒนาระบบแจ้งและการจัดการของเสีย รวมไปถึงการศึกษาค่าภาระการจัดเก็บขยะให้ครอบคลุมทั้งระบบ เพื่อช่วยลดการทิ้งขยะลงทะเลอย่างผิดกฎหมาย
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2565 โครงการฯ ได้สนับสนุนการจัดนิทรรศการ “ติด-ร่าง-แห” ในจังหวัดกรุงเทพฯ ซึ่งเรียกผู้เข้าร่วมได้มากกว่า 12,000 รายในสองสัปดาห์กว่า ๆ สามารถชมทัวร์เสมือนจริงได้ที่นี่ นอกจากนั้น ยังมีการดำเนินการร่วมกับชุมชนชาวประมงในจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อส่งเสริมเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการขยะทะเลในเรือประมงขนาดเล็กและชุมชนเพื่อลดขยะอย่างยั่งยืน
สนับสนุนงบประมาณโดย
- สหภาพยุโรป (EU)
- กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
ประเทศ
จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ตุลาคม พ.ศ. 2565
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://rethinkingplastics.eu/
รับชมวิดีโอเกี่ยวกับโครงการ