กรุงเทพฯ 27 กันยายน 2565 – เป็นระยะเวลา 3 ปีครึ่งของการประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและขยะทะเล โดยมีผู้แทนจาก 7 ประเทศภาคีในแถบเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมพิธีปิด “โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล” เพื่อรับฟังการสรุปผลและการถอดบทเรียน ทั้งนี้โครงการฯ เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2562 ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) และรัฐบาลเยอรมัน โดยดำเนินงานร่วมกับประเทศภาคีในแถบภูมิภาคเอเชีย รวมถึง EU เข้าร่วมแลกเปลี่ยนหารือเชิงนโยบาย โมเดลทางธุรกิจ แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกสู่ทะเลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และหัวข้ออื่นๆ อาทิ การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของพลาสติก การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงระบบการจัดการขยะทั้งขยะบนบกและขยะทะเล ในประเทศไทยโครงการฯ ดำเนินงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคีจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม อีกทั้งโครงการฯยังดำเนินงานร่วมกับประเทศภาคีอื่นๆ ประกอบไปด้วยประเทศจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม
ภายในงาน มีผู้เข้าร่วมกว่า 120 ท่าน ณ ห้องบอลล์รูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก ดร. ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯ พณ ฯ มร. เกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย มร.เครมี ลองแบร์ รองหัวหน้าคณะผู้แทนสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และผู้แทนจากสหภาพยุโรปอีกหลายท่าน รวมถึงผู้เข้าร่วมออนไลน์จากแถบภูมิภาคอื่นๆ ภายใต้งาน Rethinking Plastics – Now and in Future: Navigating towards a Future without Plastic Pollution ประกอบไปด้วย การแลกเปลี่ยนการดำเนินงานในส่วนของโครงการและโครงการนำร่อง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย พร้อมข้อมูลเชิงลึกและสร้างแรงบันดาลใจสำหรับการดำเนินงานในอนาคต ผลลัพธ์ของโครงการนำร่อง 24 โครงการ ที่ได้รับการสนับสนุนในประเทศไทย จีน อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม และจากการรณรงค์สร้างจิตสำนึก ภายใต้แนวทางการดำเนินงานรูปแบบใหม่ในการลดขยะทะเล
ภายในงาน ฯพณฯ มร.เดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวสรุปว่า “ภายใต้เป้าหมายการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด และการควบคุมอัตราการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืนนั้น เราในฐานะสหภาพยุโรปมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาจะเป็นรูปแบบของการเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะในทะเล ทำให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนหารือเชิงนโยบาย แนวทาง และประสบการณ์กับประเทศภาคีในแถบเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ เราเชื่อมั่นว่าความสำเร็จ แนวทางการดำเนินงาน และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการฯนี้ พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าในการดำเนินงานและความร่วมมือในอนาคตของพวกเรา”
“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยได้ให้ความสนใจในการจัดการขยะพลาสติกทั้งในระดับชาติและภูมิภาค โดยประกาศแผนนโยบาย (Roadmap) การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในประเทศแบบบูรณาการตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก” ดร. ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะ กระทรวงฯที่เป็นหน่วยงานความร่วมมือหลักของโครงการ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ตลอดจนความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม “ในนามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผมต้องแสดงความขอบคุณสหภาพยุโรป (EU) กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และ Expertise France ในการสนับสนุนการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย รวมถึงขอขอบคุณเครือข่ายภาคีต่างๆ ที่เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินโครงการฯ ให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้”
ฯ พณ ฯ มร. เกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า “กุญแจแห่งความสำเร็จของโครงการคือการมีผู้เกี่ยวข้องที่มีบทบาทหลากหลาย ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่โครงการในทุกประเทศภาคีได้เชื่อมโยงการทำงานกับระดับท้องถิ่นทั้งในชุมชนและครัวเรือน ธุรกิจท้องถิ่น รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวทางต่างๆเหล่านี้ในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอีกด้วย เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่ได้รับรู้ถึงความประทับใจและผลลัพธ์ของโครงการจากประเทศภาคีมากขึ้นในวันนี้ การดำเนินงานและและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับโครงการนำร่องและได้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ และผมมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินต่อไปในอนาคต”
มร. เครมี ลองแบร์ รองหัวหน้าคณะผู้แทนสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า “ผลลัพธ์ของโครงการนับว่าเป็นแนวทางที่สมบูรณ์ทั้งการให้คำแนะนำแก่พันธมิตร การดำเนินกิจกรรมร่วมกัน และการสนับสนุนโครงการนำร่องซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการรับมือกับปัญหาขยะพลาสติก ความร่วมมือของผู้แทนจากประเทศภาคีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้เป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาไม่เพียงแต่การสร้างความเข้าใจในเชิงวิชาการเกี่ยวกับการปนเปื้อนของพลาสติกเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความตระหนัก รวมถึงส่งเสริมการเสาะหาแนวทางแก้ไขปัญหาและเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกด้วย”
มร. อัลวาโร่ ซูริต้า ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้สรุปว่า “ตลอดเวลาสามปีครึ่งที่ผ่านมา เป็นการเดินทางที่มีคุณค่า เราสามารถส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางและนโยบาย อาทิ หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) การนำเสนอแนวทางการเรียนรู้จาก EU การศึกษาวิจัย การให้คำแนะนำ และข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใน 7 ประเทศภาคีแถบเอเชีย เราขอขอบคุณภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันศึกษา สำหรับความร่วมมือในการดำเนินงานการลดขยะพลาสติก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถคงการดำเนินงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีในอนาคต”
หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) คือ แนวความคิดตามหลักการที่ว่า ผู้ประกอบการมีส่วนรับผิดชอบในบรรจุภัณฑ์ที่ออกสู่ท้องตลาดในประเทศนั้นๆมากขึ้น โครงการฯมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศภาคี นอกจากนี้โครงการฯ ดำเนินงานร่วมกับท่าเรือและชุมชนชาวประมง อาทิ โครงการจัดการของเสียของท่าเรือ ภายในท่าเรือ 5 แห่งในแถบภูมิภาค เช่น ท่าเรือกรุงเทพฯ โดยการออกแบบและดำเนินระบบการจัดส่งแบบแจ้งข้อมูลของเสียจากเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการแจ้งปริมาณของเสียที่จะถ่ายเท ณ ท่าเรือฯ นอกจากนี้ เรือประมงกว่า 150 ลำ ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเก็บขยะหรือการ (ตก) ขยะ(Fishing for litter) รวมถึงเข้าร่วมฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนชาวประมงเพื่อพัฒนาแนวทางการดำเนินงานและการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ภายใต้หัวข้อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน โครงการฯได้นำเสนอแนวทางการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในอีคอมเมิร์ซและในธุรกิจการจัดส่งอาหาร การสำรวจทางเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน การรีไซเคิลพลาสติก มาตรฐานและฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก อาทิ การพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมในประเทศฟิลิปปินส์
ในภาพรวม โครงการฯจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการมากกว่า 70 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,200 ท่าน ในการวางแผนการดำเนินงาน การให้คำปรึกษา ที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมขยะ การคัดแยกขยะ การรีไซเคิล และการลดขยะในระดับท้องถิ่น ในส่วนของกิจกรรมการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เพื่อดำเนินการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ใน 5 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมและเข้าชมมากกว่า 24,000 ท่าน และสามารถเข้าถึงผู้ที่มีความสนใจจากแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 5 ล้านคน