ปัจจุบันขยะทะเลเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และชุมชน โดยเฉพาะในทะเลและบริเวณชายฝั่งเป็นอย่างมาก การหลีกเลี่ยงและลดขยะในทะเลเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนใหญ่ขยะทะเลมีแหล่งกำเนิดจากบนบก แต่ในภาคประมงก็เป็นแหล่งหนึ่งที่ทำให้เกิดขยะทะเลได้เช่นกัน โดยต้องคำนึงการลดปริมาณขยะทะเลจากการทำประมง เช่น จากเครื่องมือประมง จากการอุปโภคและบริโภคบนเรือประมง
โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเลซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป (EU) ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับชาวประมง เช่น การเก็บขยะหรือการ (ตก) ขยะ (Fishing-for-litter schemes) โดยสนับสนุนให้ชาวประมงเก็บขยะกลับขึ้นมาบนบก (ข้อมูลเพิ่มเติม อินโฟกราฟิก)
ในประเทศไทย “โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล” ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และชุมชนชาวประมงบ้านในถุ้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช เสริมสร้างการจัดการขยะทะเลในชุมชนประมงและบนเรือประมงขนาดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการหาทางออกเพื่อลดขยะพลาสติกในทะเล โดยในช่วงต้นปีนี้ชาวประมงได้รับทราบถึงจำนวนของอุปกรณ์ประมงที่สูญหายรวมถึงพลาสติกที่นําขึ้นเรือ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำข้อมูลที่น่าเชื่อถือนี้ไปพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะและแนวทางดำเนินงานต่อไป
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวประมงกว่า 20 คน เพื่อแบ่งปันความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงการจัดการขยะพลาสติก รวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับความพยายามและความท้าทายของชุมชน และในเดือนพฤษภาคม โครงการฯ และมูลนิธิยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (EJF) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการออนไลน์เรื่อง “การจัดการขยะในภาคประมง – บทเรียนและทางออก” ขึ้น โดยมีการถอดบทเรียนและแนวทางแก้ไขจากประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคอื่น ๆ อย่างประเทศญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะนำข้อมูลมาประเมินและกลับไปหารือกับชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาที่อ้างอิงจากผลการวิจัยต่อไป
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2565 โครงการฯ และทีมคณาจารย์จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้มีโอกาสติดตามโครงการนำร่องที่ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะให้กับชาวประมง และเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงในการลดขยะพลาสติกไม่ให้รั่วไหลลงสู่ทะเลที่ตำบลบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
โครงการฯ มาถึงบ้านในถุ้งในเวลาเช้ามากเกินกว่าจะรับรู้ถึงอากาศร้อนของปลายเดือนมีนาคม ที่ริมหาดมีศาลา 2 ชั้นเล็กๆ ที่ใช้เป็นสถานที่ประชุมของคนในหมุ่บ้าน เมื่อมองออกไปจะเห็นเรือประมงเทียบชายฝั่งอยู่ไม่กี่ลำ วันนี้เป็นวันที่คึกคักวันหนึ่งของชาวบ้านในถุ้ง เพราะทีมคณาจารย์จากเกษตรฯ ที่เคยเข้ามาศึกษาเรื่องการใช้พลาสติกของชาวประมง เมื่อสองเดือนก่อน จะกลับมาที่นี่อีกครั้ง และให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะในชุมชน เสียงประกาศออกลำโพงดังไปทั่ว ชาวประมงต่อคิวกันลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรม บางคนยังคงพูดคุยทักทายกันในยามเช้า บางคนเพิ่งกลับจากการไปหาปลาตอนตี 4
“ช่วงนี้ปลาทูกลับมาแล้ว หลังจากที่ไม่เจอมานานมาก” เสียงของชาวประมงแว่วมาให้ได้ยิน
ในขณะที่การฝึกอบรมดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ข้อมูลบางอย่างทำให้ฉันหวนนึกถึงตัวเลขจากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่บอกว่าขยะพลาสติกในทะเลกว่า 80% นั้นถูกทิ้งอยู่บนบก
เมื่อจินตนาการถึงอำเภอปากพนังที่เป็นปากแม่น้ำของนครศรีธรรมราชที่เขาว่าอาหารอร่อย แม่น้ำปากพนังไหลยาวหลายร้อยกิโลเมตร แตกเป็นเส้นเลือดฝอยไปถึงพัทลุง นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารทะเลชั้นดีแล้ว ยังเป็นสายพานลำเลียงขยะพลาสติกนับพันชิ้นต่อวันออกสู่ทะเล เมื่อมันออกสู่ทะเลก็ไม่มีเส้นแบ่งดินแดนอีกต่อไป อย่างเช่น ข่าวขวดน้ำจากไทยโด่งดังไปไกลถึงมัลดีฟส์ เป็นต้น
ชาวประมงในฐานะของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ชายฝั่งทะเล พวกเขาต้องรับมือกับขยะที่ไม่รู้ต้นทางที่พัดเข้ามาเกยชายหาดแทบทุกวัน และการประมงพื้นบ้านเองก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งในการสร้างขยะพลาสติกในระหว่างการหาปลา และขยะพลาสติกที่อยู่ริมทะเลจะมีส่วนนำพาขยะลงน้ำด้วยหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน
“นอกเหนือจากประมงพาณิชย์แล้ว กรมประมงและหน่วยงานต่างๆ ยังให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ที่ออกทะเลทั้งวันทั้งคืน แต่ทางเราก็อยากให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้านด้วย เพราะถึงแม้จะเป็นเรือเล็ก แต่ก็ออกทะเลบ่อยและใช้ชีวิตริมทะเล ในประเทศไทยเรามีหมู่บ้านชาวประมงริมฝั่งแบบนี้ 3,600 หมู่บ้านเลยทีเดียว”
ผศ.ดร.เมธี แก้วเนิน จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการการจัดการขยะทะเลสำหรับชาวประมงพื้นบ้าน อาจารย์บอกว่าที่เลือกบ้านในถุ้งเพราะที่นี่เป็นชุมชนที่ให้ความร่วมมือและสร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดชุมชนหนึ่ง โดยมีผลงานที่โดดเด่นที่ทำร่วมกับกรมประมงมาก่อนแล้ว ก่อนหน้านี้ ทีมจากเกษตรฯ แจกสมุดจดบันทึกให้ชาวประมงทุกคนสำหรับบันทึกจำนวนสิ่งที่อาจเป็นขยะที่นำออกไปบนเรือ ทั้งอาหารกลางวัน ขวดน้ำ ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือให้ชาวประมงบันทึกจำนวนอวน และจำนวนครั้งที่ทำอวนหายไปในทะเลด้วย โดยในระยะเวลา 2 เดือน ชาวประมง 8 คน ทำอวนปลาและอวนกุ้งหายไปในทะเลรวม 14 เล่ม
ทำไมการสำรวจว่าทำอวนหล่นน้ำกี่ครั้งถึงจำเป็น ?
เพราะอุปกรณ์หาปลาที่หายไปในน้ำแบบไม่ได้ตั้งใจทำสูญหายหรือหล่นลงไปโดยอุบัติเหตุจะนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ตอนนี้
นั่นคือ อวนผี ที่ทำมาจากพลาสติก และทำให้สัตว์ทะเลสามารถมาติดและเสียชีวิตอยู่เรื่อยๆ อุปกรณ์อย่างลอบกุ้ง ถ้าถูกทิ้งลงไปในทะเล จะมีสัตว์น้ำบริเวณนั้นบังเอิญไปติดเข้า และออกมาไม่ได้ เมื่อมีปลาเล็กเข้าไปติดปลาใหญ่ก็จะเข้าไปกินปลาเล็ก ทำให้ปลาใหญ่ติดตามและตายตามๆ กัน
“ทะเลไม่ใช่ถังขยะ ชาวบ้านที่นี่ไม่ทิ้งอวนลงทะเลหรอกครับ เว้นเสียแต่ว่ามันจะไปติดเศษขยะใต้น้ำ ตอ หรือซากเรือในนั้น ทะเลคือที่ทำมาหากินของเรา ผมจะบอกเสมอว่าถ้าเราไปเอาของจากในถังขยะมากิน เราจะกินไหม?”
เจริญ โต๊ะอิแต หรือ บังมุ ผู้นำชุมชนของที่นี่บอกกับฉันหลังจากที่มีโอกาสได้คุยกันหลังการอบรม บังมุเป็นชาวประมงมากว่า 40 ปี เขาได้เห็นทะเลที่เขาเติบโตมา เขาดิ้นรนสู้กับปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลก บังมุเป็นตัวตั้งตัวตีในการประสานงานกับชุมชนต่างๆ ทั้งทำอาหารแปรรูปในชุมชน รวบรวมเงินจากชุมชนไปติดแผงโซลาร์เซลล์ให้กับเรือหาปลาที่นี่ และบังมุนี่เองที่เป็นตัวกลางติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ
“เมื่อก่อนตอนผมเล็กๆ ถ้าอยากกินปูเนี่ยไม่ต้องใช้อวนลากนะ ไปเล่นน้ำทะเลกันบางทีอาจจะไปเหยียบปูเอา ชายหาดก็จะมีผักบุ้งทะเลขึ้นอยู่ เราก็เอาผักบุ้งไปแหย่รูปู เราก็จะได้ปูมากิน ต่อมาก็เริ่มมีเรือ (หาปลา) มากขึ้น มีเครื่องมือที่พัฒนามากขึ้น สัตว์น้ำก็ถูกจับไปมากจนธรรมชาติฟื้นฟูไม่ทัน เราก็เลยเริ่มรวมตัวกันหาวิธีแก้ไขกันเองในหมู่บ้าน”
“ชาวประมงเขาไม่ทิ้งขยะลงไปในทะเลหรอก ทิ้งไปก็ไปติดอวน ติดเครื่องมือขาด ยิ่งน้ำเชี่ยวยิ่งพันเป็นเกลียวเลย” พานัก บัณฑิต ชาวประมงและช่างต่อเรือ บอกด้วยสำเนียงใต้ชัดเข้มในเช้าถัดมาหลังจากการอบรมคืนก่อนหน้านี้เขาหาปลาด้วยอวนลม ได้ปลาทูมา 100 กิโลกรัม
เมื่อการทิ้งเครื่องมือประมงลงน้ำไม่ใช่ปัญหาสำหรับที่นี่ แล้วการจัดการขยะของชุมชนริมทะเลล่ะ
ความรู้เรื่องการปรับปรุงการจัดการขยะและการลดผลกระทบจากขยะพลาสติกของที่นี่ยังมีไม่มากนัก ไม่ใช่แค่ที่ชุมชนประมงแต่ที่เมืองใหญ่ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการฝึกอบรมจึงเสริมสร้างความรู้ในการจัดการและกำจัดขยะในทะเลภายในชุมชนและบนเรือ การรวบรวมขยะ การคัดแยกขยะที่ดีขึ้น และการรีไซเคิลจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด หากเราไม่ลดการผลิตและการบริโภคของเสียลงก่อน
“ชาวบ้านมีนัดกันเดินเก็บขยะเป็นรายปีนะ วันแรกคือวันละศีลอด อีกวันคือวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี อบต. ก็มีเอาถังมาตั้งให้ตามบ้าน มีรถมาเก็บบ้าง แต่มันไม่หมดหรอก ขยะในหมู่บ้านของเรามันเพิ่มขึ้น ทุกวันนี้คนมันใช้กันเยอะ เอาความสะดวกเข้าไว้ แค่ทุกวันนี้ซื้อข้าวซื้อแกงก็เป็นขยะแล้ว”
อนันต์ ยีโก หรือ บังพารีท คนหาปลา เล่าให้ฟังอีกเสียงหนึ่งถึงพฤติกรรมการผลิตและจัดการขยะของที่นี่ ชาวบ้านเล่าว่าบังพารีทเนี่ยแหละคือคนที่ออกมากวาดขยะริมทะเลทุกเช้า
การลดขยะพลาสติกไม่ใช่แค่การรวบรวม การคัดแยก และการรีไซเคิล แต่คือการเปลี่ยนพฤติกรรม ที่ต้องอาศัยเวลาและทำอย่างต่อเนื่อง บังมุผู้นำชุมชนเอง เล่าให้ฟังว่า นี่ก็ดีขึ้นกว่าเดิมมากแล้ว
เมื่อถามว่า “อยากให้ทางหน่วยงานต่างๆ ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างไร”
กาเตาะ โต๊ะอีแต แม่ครัว บอกว่า “มะห์เคยเสนอไปที่อบต. อยากให้มาช่วยให้ความรู้เรื่องขยะกับชาวบ้านบ่อยๆ บางทีพวกแม่ๆ ที่ทำอาสาอย่างเราไปบอกกันเอง ก็ไม่ค่อยมีใครฟัง บางคนก็รับรู้ไว้ แล้วก็ไม่ทำหรอก เป็นเรื่องปกติ มีทุกที่ ระหว่างนี้เราสอนลูกสอนหลานเราได้ ก็สอนพวกเขาไปก่อน”
ความเห็นของมะห์น่าสนใจตรงที่มันเป็นเสียงสะท้อนตรงกับความเห็นของอาจารย์เมธี เมื่อถามถึงอนาคตและความคาดหวังของกิจกรรม อาจารย์เมธีบอกว่า โครงการทุกโครงการมันมีระยะเวลาของมัน ถึงแม้ว่าบ้านในถุ้งจะเป็นชุมชนที่ตื่นตัวกว่าที่อื่น แต่สุดท้ายเมื่อโครงการหมดระยะเวลาการดำเนินงานไป ก็ต้องอาศัยความพยายามของชาวบ้านไปต่อยอดกันเอง
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องทำเริ่มทำเองก่อนที่จะไปสอนใครได้ และถึงจุดหนึ่งเราต้องการการสนับสนุนจากองค์กร หรือนโยบายที่ดูภาพใหญ่ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวงกว้างได้จริง คลื่นที่ซัดเข้ามาทุกวันอาจจะเป็นขยะจากที่ไหนไม่รู้ในโลก แต่อย่างน้อยถ้าหากชาวบ้านร่วมใจกัน พวกเขาก็ภูมิใจ และพูดได้ว่าชุมชนของพวกเขาไม่ได้เป็นคนที่ก่อขยะเหล่านี้ขึ้นมา
เหมือนที่คุณป้ากาเต๊าะบอก “เราบอกใครไม่ได้ เราก็ทำเองก่อน ระหว่างนี้ก็สอนลูกหลานของเราต่อไป”
อัลบั้มภาพ