ปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น หลอดพลาสติก ถ้วยพลาสติก และถุงพลาสติก สำหรับการซื้ออาหารกลับบ้าน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน และเมื่อไม่นานมานี้ พลาสติกสำหรับการใช้บริการส่งอาหารก็มีปริมาณมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการการเว้นระยะห่างในช่วงล็อคดาวน์ (ปิดเมืองหรือปิดประเทศ) อย่างไรก็ตามหากระบบการจัดการขยะพลาสติกยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็จะส่งผลให้เกิดมลพิษทางดิน น้ำและท้องทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์นานาชนิด ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 GIZ และ Expertise France ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 ท่าน เพื่อหารือเกี่ยวกับการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวสำหรับการใช้บริการส่งอาหารและการซื้อกลับบ้าน โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศไทย จีน และประเทศในยุโรป
งานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ จัดโดยโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป (EU) และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
“วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดความต้องการในการจัดการขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว การใช้บริการจัดส่งอาหารและการซื้ออาหารกลับบ้านที่เพิ่มขึ้น ช่วยคลายความกังวลด้านสุขภาพและสุขอนามัยของผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้นด้วย การสัมมนาออนไลน์นี้ มุ่งเน้นเกี่ยวกับการหารือและเสนอแนะแนวทางปฏิบัติที่ดีทั้งในด้านนโยบายและรูปแบบธุรกิจที่พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว” คุณมาเรีย คีอารา เฟมีอาโน คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าว
ผู้แทนจากสหภาพยุโรป ประเทศจีนและประเทศไทย ร่วมนำเสนอนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น แผนที่นำทาง (Roadmap) ด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ของประเทศไทย “เป้าหมายของ Roadmap คือ เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการป้องกันและจัดการขยะพลาสติกในประเทศ” คุณวาสนา แจ้งประจักษ์ สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการอื่นๆ Roadmap นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้มีการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว แก้วพลาสติกแบบบาง หลอดพลาสติก โฟมบรรจุอาหาร พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม รวมทั้งการเลิกใช้สารอ็อกโซ่ (Oxo) ผสมในผลิตภัณฑ์พลาสติก
กรมควบคุมมลพิษร่วมมือกับโครงการฯ ในการลดขยะพลาสติกและการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกเพื่อลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเล ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน เกิดขึ้นในแต่ละปี และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษได้ทำการสำรวจออนไลน์และพบว่ามีการใช้บริการส่งอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการใช้บริการส่งอาหารคิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ
คุณธรณ์เทพ เตือนวชาติ จาก Rise Café ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นความท้าทายสำหรับร้านอาหาร “เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 เราไม่ได้รับอนุญาตให้ลูกค้าเข้ามารับประทานอาหารภายในร้าน ดังนั้นเราต้องหากลยุทธ์มารองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยทางออกเดียวที่จะสามารถดำเนินการได้ คือ การใช้บริการส่งอาหาร และทางเราเล็งเห็นว่าการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวจะก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกที่ตามมา และเราไม่ได้อยากเป็นหนึ่งในผู้ผลิตขยะพลาสติก เราเลยคิดค้นหาผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ทดแทนเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก”
ทางร้านริเริ่มทำการทดลองใช้ผลไม้และใบบัวมาเป็นบรรจุภัณฑ์ และได้ใช้ปิ่นโตเป็นภาชนะบรรจุอาหารที่สามารถใช้ซ้ำได้และมีการรับปิ่นโตกลับหลังจากการบริโภคเสร็จ ตัวอย่างเพิ่มเติมที่ได้ถูกนำเสนอระหว่างการสัมมนาออนไลน์ คือ อีคอมเมิร์ซ และการใช้บริการจัดส่งอาหารของประเทศจีน โดยมีตัวเลือกให้ผู้บริโภคสามารถกดไม่รับช้อมส้อมเมื่อสั่งอาหารได้ นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงโดยสมัครใจในการลดใช้พลาสติกของบริษัทที่จัดส่งอาหารในประเทศสิงคโปร์ และสตาร์ทอัพในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจัดหาภาชนะใส่อาหารที่ใช้ซ้ำให้กับร้านอาหารมากกว่า 1,000 แห่ง โดยลูกค้าสามารถจ่ายเงินค่ามัดจำภาชนะและสามารถคืนภาชนะได้ภายหลัง
นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังได้จัดการประชุมออนไลน์เพิ่มเติมร่วมกับผู้เข้าร่วมกว่า 560 ท่าน โดยนำเสนอแนวทางการผลักดันให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ (Extended Producer Responsibility: EPR) ของประเทศอินโดนิเซีย ซึ่งสามารถรับชมการประชุมย้อนหลังได้ ที่นี่
EPR ถือเป็นแนวทางที่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์หรือสินค้าต้องรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ของตนไปจนกว่าจะสิ้นสุดวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์และในขั้นตอนของการจัดการขยะ และเมื่อต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาทางโครงการฯ ก็ได้จัดสัมมนาออนไลน์ล่าสุดภายใต้หัวข้อแนวทางในการรีไซเคิลขยะพลาสติก ที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางด้านเทคนิค สิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเอกสารจากการสัมมนาจะถูกเผยแพร่เร็วๆ นี้
เอกสารเพิ่มเติม