ความเป็นมา
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวประกอบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจนำไปสู่การทิ้งขยะจำนวนมหาศาล ในปี พ.ศ. 2562 มีขยะมูลฝอยจากชุมชนรวมถึงขยะพลาสติกจำนวนกว่า 28.7 ล้านตัน ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งปัญหามลพิษขยะจากพลาสติกนั้นอยู่ในระดับที่สร้างความผลกระทบร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิเช่น ปะการังแข็งจำนวนกว่า 400 สายพันธุ์ และปลามากกว่า 2,000 สายพันธุ์
ในปี พ.ศ. 2562 รัฐบาลไทยได้พัฒนาแผนแม่บทการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการบริหารจัดการขยะพลาสติกของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีพันธกรณีระดับภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน ด้วยเหตุผลดังกล่าว โครงการการลดการใช้ การออกแบบที่ยั่งยืน และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อป้องกันขยะในทะเล หรือ MA-RE-DESIGN จึงร่วมกับรัฐบาลไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อจัดการขยะพลาสติกและการปกป้องท้องทะเลไทย
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนามาตรการและเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเลของประเทศไทย
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการ MA-RE-DESIGN ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรในหลายระดับเพื่อป้องกันปัญหาขยะพลาสติกที่รั่วไหลสู่ทะเลผ่านหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยการให้ความสำคัญกับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของบรรจุภัณฑ์ทั้งระบบ ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้เสียในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค รวมถึงภาคเอกชน จะได้รับการเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานผ่านมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยการสนับสนุนจากโครงการฯ
ระดับท้องถิ่น: โครงการฯสนับสนุนการพัฒนามาตรการที่มีประสิทธิภาพให้แก่พื้นที่ 2เทศบาลในประเทศไทย ซึ่งจะกลายเป็นแบบแผนการปฎิบัติงานที่ดีให้แก่พื้นที่อื่นๆ และนำไปสู่การพัฒนานโยบายในระดับชาติ
ระดับประเทศ: มาตรการอันเป็นรูปธรรมในการป้องกันขยะทางทะเลที่ได้รับการพัฒนาในพื้นที่เทศบาลนำร่อง 2 แห่งได้รับการนำไปใช้เป็นต้นแบบการปฎิบัติงานในพื้นที่อื่น อันจะนำไปสู่การพัฒนานโยบายในระดับประเทศได้ อาทิเช่น ระบบ “ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต” (Extended Producer Responsibility (EPR))
ระดับภูมิภาค: ประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการฯ จะได้รับการเผยแพร่ผ่านเครือข่ายการแลกเปลี่ยนความรู้ระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นการรวบรวมความพยายามจากการดำเนินงานเพื่อป้องกันและอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล ความร่วมมือระดับภูมิภาคนี้ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาและดำเนินการตามนโยบายระดับโลกอีกด้วย
โครงการฯมีแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้
- พัฒนากลยุทธ์เพื่อหลีกเลี่ยงหรือหาบรรจุภัณฑ์อื่นเพื่อทดแทนบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก
ทางโครงการฯ ตั้งใจที่จะประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยการพัฒนาระบบการผลิต/การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจ ให้รางวัลด้านนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมถึงขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวในการหลีกเลี่ยงและใช้บรรจุภัณฑ์อื่นทดแทนบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
- ส่งเสริมนโยบายและกระบวนการด้านการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ และรวมถึงความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR)
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะร่วมพัฒนาร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับระบบEPR ในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ และภาคเอกชนจะช่วยพัฒนากลไก “องค์กรความรับผิดชอบของผู้ผลิต” (Producer Responsibility Organization: PRO) เพื่อการดำเนินงานตามระบบ EPR ของบริษัทสมาชิกโดยรวม และจะมีการจัดอบรมเกี่ยวกับ EPR สำหรับบรรจุภัณฑ์ในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
- ลดมลพิษจากขยะพลาสติกในเทศบาลนำร่อง 2 แห่งที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีความสำคัญทางชีวภาพ
โครงการฯ ได้คัดเลือกเทศบาลนำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง และสนับสนุนการพัฒนาแผนปฎิบัติงานด้านพลาสติก (Plastic Action Plans) และนำข้อเสนอแนะจากแผนปฎิบัติงานดังกล่าวผสานกับแผนปฏิบัติการประจำปีด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของเทศบาลนำร่อง พร้อมดำเนินงานตามแผนปฎิบัติการ “Plastic Smart Cities” โดยจะมีการวางระบบการติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง
- แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศสมาชิกและขยายผลการป้องกันขยะทะเลเพิ่มขึ้นระหว่างประเทศโดยการเสริมศักยภาพและสื่อรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ระดับภูมิภาคจากผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการสมาชิกทั้ง 9 ประเทศของกลุ่มประสานความร่วมมือทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Coordinating Body on the Seas of East Asia: COBSEA) รวมถึงประเทศไทย และมีการนำบทเรียนที่ได้รับจากโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
ประเทศ
ประเทศไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ตุลาคม พ.ศ. 2565 – มีนาคม พ.ศ. 2569