ความเป็นมา
ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2562 กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีปริมาณขยะที่จัดเก็บได้เฉลี่ย 3.87 ล้านตันต่อปี เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2564 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชน เนื่องมาจากการลดกิจกรรมทางพาณิชย์และอุตสาหกรรม จึงทำให้ปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ลดลงอยู่ที่ 3.32 ล้านตันต่อปี และในปี พ.ศ. 2565 แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด 19 จะคลี่คลายลงแต่ก็ยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติปริมาณขยะที่จัดเก็บได้จึงอยู่ที่ 3.27 ล้านตัน
ทั้งนี้ กทม. ได้นำหลักการ 3R (การลด, การใช้ซ้ำ, การแปรใช้ใหม่) มาดำเนินการจัดการมูลฝอยของทั้ง 50 เขต เพื่อลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบให้น้อยที่สุด ตลอดจนส่งเสริมการลดและแยกขยะที่ต้นทาง โดยให้ความสำคัญกับการแปรใช้ใหม่ซึ่งเป็นกลไกหลักในการลดปริมาณขยะ ในส่วนของกลยุทธ์การจัดการขยะต้นทางสำหรับการป้องกันขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในกรุงเทพฯ จะเป็นการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การส่งเสริมแรงจูงใจให้เกิดการใช้ซ้ำเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
ทั้งนี้โครงการ CAP SEA ระยะที่ 2 จะดำเนินต่อยอดจากโครงการ CAP SEA ระยะที่ 1 ในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง โดยจะมุ่งเน้นที่กลยุทธ์การป้องกันจากต้นทางและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ในระดับเมือง โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568
วัตถุประสงค์
เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการความท้าทายในการจัดการขยะและมลพิษของกทม. โดยเฉพาะการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single Use Plastic)
แนวทางการดำเนินงาน
กรอบการดำเนินงานของโครงการ
- สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนของเมือง ฉบับที่ 2 ภายใต้แผนพัฒนา 20 ปี ระยะที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่สอดรับกับแผนปฏิบัติการการจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573) โดยมีมาตรการสำคัญในการลดการผลิตขยะพลาสติกที่แหล่งกำเนิดและที่เกิดขึ้นระหว่างการบริโภค ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ
- สนับสนุน ส่งเสริม แลกเปลี่ยน ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค/วิชาการ พร้อมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ให้แก่บุคลากรของ กทม. ผ่านการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐระดับชาติที่เกี่ยวข้อง องค์กรเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร ตลอดจนประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการการควบคุมมลพิษและการจัดการขยะ เช่น สถาบันวิจัยเออะโค่ (Öko Institute) , แผนงานการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของโครงการริเริ่มการส่งออก (EXI), กรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งโครงการภายใต้ความร่วมมือไทย-เยอรมัน อื่นๆ เช่น โครงการ Marine Litter Prevention Through Reduction, Sustainable Design, and Recycling of Plastic Packaging (MA-RE-DESIGN) ฯลฯ เพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้
- เพิ่มขีดความสามารถของกทม. ในฐานะองค์กรหลักในการป้องกันและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในกรุงเทพฯ ผ่านมาตรการเชิงกลยุทธ์ รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ การพัฒนาขอเสนอแนะเชิงนโยบาย การจัดดำเนินการในพื้นที่ที่นำร่อง และการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเครือข่ายระดับสากล
การปฏิบัติงานของโครงการ
- พัฒนามาตรฐานจุดเติมน้ำดื่มภายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะแผนที่จุดเติมน้ำดื่มสำหรับประชาชน คู่มือการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มฉบับประชาชน (Quick guide) รวมถึงการพัฒนากลไกการรายงาน และระบบการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่ม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการใช้ขวดน้ำแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในพื้นที่เมือง
- พัฒนาและนำร่องแนวทางการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในโรงเรียน โดยทำการทบทวน ประเมิน พัฒนาและทดสอบแนวทาง/มาตรการ รวมทั้งผลิตสื่อที่ใช้ในการป้องกันและลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในและบริเวณใกล้เคียงโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร
- การศึกษาเบื้องต้นเพื่อเตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม สำหรับการจัดตั้งระบบฝากบรรจุภัณฑ์และการคืนเงิน (Deposit Return Scheme-DRS): ในระดับเมือง: ดำเนินการศึกษาที่ครอบคลุมเพื่อระบุเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการจัดตั้งระบบ DRS พื้นที กรุงเทพมหานครเมือง โดยเฉพาะการคืนขวด PET ผ่านเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์แบบอัตโนมัติ
- พัฒนาและการวิเคราะห์ระบบ DRS กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ครอบคลุมสำหรับการดำเนินการระบบ DRS โดยมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทการจัดกิจกรรม หรืองานเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดในพื้นที่หรือภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร
การดำเนินงานที่ผ่านมา
- คณะกรรมการกําหนดมาตรฐานด้านการตรวจสอบและรับรอง ออกประกาศกําหนดข้อตกลงร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการกำหนดคุณลักษณะของบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้สามารถนำกลับมารีไซเคิล สำหรับขวดพลาสติกพอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลตสำหรับบรรจุเครื่องดื่ม ขวดพลาสติกพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูงสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลและผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน และภาชนะพลาสติกพอลิพรอพิลีน ชนิดคงรูปสำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม (D4R) ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ CAP SEA โดยประกาศในราชกิจนานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 พฤษจิกายน พ.ศ. 2566 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดูเอกสาร ได้ที่นี้
- จัดทำข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) ในโรงเรียนและงานเทศกาล การร่างรายงานเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีเพื่อลด SUP ในงานเทศกาลท้องถิ่น
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
ประเทศ
ประเทศไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
กรุงเทมหานคร (กทม.)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
1 เมษายน พ.ศ. 2566 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2568