โครงการ MA-RE-DESIGN ระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญถึงแนวทางการดำเนินงาน
ภาพหมู่งานประชุมการวางแผนการดำเนินงานโครงการลดการใช้ การออกแบบที่ยั่งยืน
และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อป้องกันขยะในทะเล (MA-RE-DESIGN) วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
- โครงการ MA-RE-DESIGN ภายใต้การสนับสนุนของ BMUV ดำเนินงานโดย GIZ, WWF และ UNEP-COBSEA ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อจัดการขยะพลาสติกและการปกป้องท้องทะเลไทย
- โครงการฯ ได้จัดประชุมวางแผนการดำเนินงานโครงการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลในการวางแผนการดําเนินงานโครงการให้มีประสิทธิภาพ
- โครงการฯ ได้รับแนวทางการดำเนินงานที่มีแบบแผนมากยิ่งขึ้น โดยผู้เข้าร่วมประชุมยังแสดงความพร้อมในการร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการตามแผนงานที่ได้ออกแบบร่วมกัน
โครงการการลดการใช้ การออกแบบที่ยั่งยืน และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อป้องกันขยะในทะเล หรือ MA-RE-DESIGN ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) ดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และกลุ่มประสานความร่วมมือทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNEP-COBSEA) ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในฐานะพันธมิตรโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และองค์กรไม่แสวงหากำไร ในการสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อจัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกและการปกป้องท้องทะเลไทย โดยเข้าสนับสนุนแผนแม่บทการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการบริหารจัดการขยะพลาสติกของประเทศ และเพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะที่สามารถใช้กําหนดแนวทางและรูปแบบการดําเนินงานในการบริหารโครงการฯ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพนั้น โครงการฯ จึงได้จัดประชุมวางแผนการดำเนินงานโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและองค์กรไม่แสวงหากำไรกว่า 40 ท่าน
ภายในงานมีการนำเสนอภาพรวมโครงการฯ โดยตัวแทนจาก GIZ WWF และ UNEP-COBSEA รวมถึงนำเสนอ (ร่าง) แผนการดำเนินงานในแต่ละประเด็น ประกอบด้วยกิจกรรมที่จะดำเนินการ เป้าหมาย กรอบเวลา ทรัพยากรและการสนับสนุนที่ต้องการ เป็นต้น โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละประเด็นได้ช่วยระดมความคิดเห็น อาทิเช่น กิจกรรมเหมาะสมในการดำเนินงานในปัจจุบันหรือไม่ และกิจกรรมดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงใด เป็นต้น นอกจากนั้น โครงการฯ ยังเปิดรับฟังข้อเสนอแนะอื่นๆ นอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ใน (ร่าง) แผนการดำเนินงานเพื่อให้ได้แผนฯ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด
กิจกรรมระดมความคิดเห็นได้รับความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างดีในทุกประเด็น โครงการฯ จึงได้รับแนวทางการดำเนินงานที่มีแบบแผนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้รับข้อเสนอแนะ ข้อกังวลและข้อควรระวังในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงได้รับชุดข้อมูลใหม่ที่มีความสอดคล้องกับการดำเนินงานในสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้นอีกด้วย โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ผู้เข้าร่วมประชุมมีความพร้อมในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการตามแผนงานที่ได้ออกแบบร่วมกันในขั้นตอนต่อไป ซึ่งทางโครงการฯ จะนำข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมประชุมไปประมวลผลและวางแผนกรอบการดำเนินงานของโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยในปัจจุบันต่อไป
อัลบั้มภาพ
ชนกสุดา พงษ์สว่าง
ที่ปรึกษาโครงการ MA-RE-DESIGN
อีเมล:chanoksuda.pongsawang(at)giz.de