โครงการ Nexus ของ GIZ ร่วมกับสถาบัน Fraunhofer สำหรับระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (ISE) จากเมืองไฟรบูรก์ การเคหะแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ EGS Plan Consultants จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่องในหัวข้อ “อาคาร Energy Plus” และการลงพื้นที่ศึกษาอาคาร Energy Plus ในกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 15-19 สิงหาคม 2559
การประชุมมุ่งเป้าไปที่ประเด็นน้ำ พลังงาน และความมั่นคงด้านอาหาร โครงการ Nexus ของ GIZ ตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่อาศัยที่เหมาะสมในภูมิภาคเอเชีย บ้านที่ผู้คนอยู่อาศัยเป็นศูนย์รวมของการใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงาน จึงถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะแนะนำแนวคิดที่ก้าวหน้าแต่ก็มีความเป็นไปได้เกี่ยวกับ “อาคาร/บ้าน Energy Plus” ให้กับภูมิภาคเอเชีย
อาคาร Energy Plus คืออะไร?
อาคาร Energy Plus คืออาคารที่สามารถผลิตพลังงานได้มากกว่าที่อาคารต้องใช้ ในเชิงเศรษฐศาสตร์อาคาร Energy Plus ไม่เพียงลดต้นทุนการดำเนินงานของตัวอาคารเอง แต่ยังมีโอกาสช่วยสร้างรายได้ให้เจ้าของทรัพย์สินผ่านการขายไฟฟ้าให้กับโครงข่ายหลัก นอกจากนี้ อาคารทั่วโลกใช้พลังงานรวมกันถึงร้อยละ 40 ของการใช้พลังงานทั้งหมด ดังนั้น ภาคอาคารจึงมีศักยภาพสูงยิ่งในการประหยัดทั้งพลังงานและเงินในระดับโลก
ในเชิงสิ่งแวดล้อม อาคาร Energy Plus ใช้พลังงานทดแทน (พลังงานแสงอาทิตย์) ดังนั้น จึงช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินท์
ในเชิงสังคม หากอาคารหรือบ้าน Energy Plus สามารถสร้างได้ที่ต้นทุนต่ำ (อาทิ ผ่านแรงจูงใจจากรัฐบาล และ/หรือผ่านการออกแบบอย่างสร้างสรรค์จากสถาปนิกและวิศวกร) โดยเฉพาะเมื่อดำเนินการอย่างแพร่หลายในวงกว้าง สังคมจะได้รับประโยชน์จากการมีไม่เพียงแค่บ้าน แต่ยังมีโรงไฟฟ้าส่วนตัวอีกด้วย
ในทางเทคนิค ถือเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะหาเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงสำหรับอาคาร Energy Plus ในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ในขณะที่ในยุโรปเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าเนื่องจากสภาพภูมิอากาศต้องการองค์ประกอบที่แข็งแรงทนทานสำหรับทำความร้อนและไม่ใช่สำหรับระบายความร้อน/ทำความเย็น จึงทำให้เทคโนโลยีที่นั่นค่อนข้างก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย การอภิปรายระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่องครอบคลุมเรื่องการออกแบบและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านอาคาร Energy Plus ในภูมิภาคเอเชีย
การประชุมแรก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 โดยโครงการ Nexus ของ GIZ ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ ณ สำนักงานการเคหะแห่งชาติ โดยนายชวนินทร์ พรหมรัตนพงษ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ผู้เข้าร่วมประชุม 50 ท่านส่วนใหญ่เป็นสถาปนิกและวิศวกรของการเคหะแห่งชาติ พร้อมทั้งตัวแทนผู้รับเหมาอีกสองสามราย ในการนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Fraunhofer สำหรับระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (ISE) EGS Plan Consultants และ GIZ ได้อภิปรายในหัวข้อต่างๆ อาทิ การประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนสำหรับอาคาร ตัวอย่างและมาตรฐานการก่อสร้างในประเทศเยอรมนีและไทย การตลาดและโอกาสทางธุรกิจของบ้าน Energy Plus และบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การเคหะแห่งชาติ และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมและสนับสนุนอาคาร Energy Plus
การประชุมครั้งที่สอง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฯ โครงการ Nexus ของ GIZ ได้เปลี่ยนมาเน้นที่การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอาคาร Energy Plus ให้กับนักศึกษาและสมาชิกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทีมงาน Nexus ของ GIZ และผู้อภิปรายจากสถาบัน Fraunhofer ISE และจาก EGS Plan Consultants ได้รับการต้อนรับจาก รศ. พรรณชลัท สุริโยธิน รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยที่สถาบัน Fraunhofer ISE เป็นผู้นำการอภิปราย สถาบันฯ ได้นำเสนอวิธีการในการสร้างอาคาร Zero Energy การปฏิบัติที่ดีสำหรับอาคาร Zero Energy ในเยอรมนีและเอเชีย การปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาคารและโครงข่ายไฟฟ้า บทบาทและความสำคัญของการศึกษาและวิจัย
การประชุมครั้งที่สามและเป็นครั้งสุดท้ายของการประชุมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่อง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2559 โดยออกแบบให้สามารถเผยแพร่แนวคิดอาคาร Energy Plus ให้กว้างขวางมากขึ้นและเข้าถึงสาธารณชนของภูมิภาคเอเชีย ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรพันธมิตรของโครงการ Nexus ของ GIZ (UNESCAP และ BISCAST) รวมถึงประเทศและเมืองพันธมิตร (จีน ฟิลิปปินส์ (เมืองนากา) เวียดนาม (เมืองดานัง) และประเทศไทย (เชียงใหม่และนครราชสีมา) ผู้แทน 15 คนจากบริษัทสถาปัตยกรรมและที่ปรึกษาเอกชนที่ดำเนินงานทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย
หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว โครงการ Nexus ของ GIZ และ EGS Plan Consultants ได้นำคณะลงพื้นที่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 โดยผู้เข้าร่วมมีโอกาสเยี่ยมชมอาคารที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งผสมผสานแนวคิดของประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ความเป็นอยู่ที่ดี และวัฒนธรรมไทย การลงพื้นที่ครั้งที่สองและเป็นครั้งสุดท้ายเป็นการเยี่ยมชมบ้าน Energy Plus ของบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด นักออกแบบได้ใช้แบบบ้านของพฤกษาที่มีอยู่แล้วโดยบูรณาการเทคโนโลยีเยอรมันเพิ่มเติมเข้าไปในบ้านในลักษณะที่บ้านสามารถผลิตและเก็บกักพลังงานได้มากกว่าพลังงานที่บ้านต้องใช้