การประชุมและนิทรรศการนานาชาติพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย หรือ SETA จัดโดยกระทรวงพลังงาน กระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงคมนาคม ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 23-25 มีนาคม 2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีการประชุมประจำปี และแบ่งปันความรู้ พร้อมสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและเทคโนโลยีจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ โดยโครงการความร่วมมือทางวิชาการเยอรมนี-อาเซียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการขนส่งทางบกของภูมิภาคอาเซียน (เรียกชื่อย่อว่า การขนส่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ TCC) ได้มีส่วนร่วมและสนับสนุนการจัดการประชุมและนิทรรศการ SETA ในครั้งนี้ด้วย
TCC สนับสนุนงาน SETA 2016 โดยให้ข้อมูลปัจจุบันที่เกี่ยวกับกิจกรรมโครงการด้านการขนส่งที่ยั่งยืนกับผู้เข้าชม และส่งวิทยากรเพื่อบรรยายใน 3 ช่วง ภายใต้หัวข้อ “การขนส่งและพลังงานทางเลือก” ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาหลัก ที่โครงการ TCC กำลังดำเนินงานอยู่ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการขนส่งทางบก
ช่วงที่ 1: นโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับยานพาหนะสำหรับภาคการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน
มร. อเล็กซ์ เคอร์เนอร์ – ที่ปรึกษาของโครงการ TCC ในการจัดทำรายงานประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับยานยนต์ในประเทศไทยและเวียดนาม ได้นำเสนอนโยบายด้านการประหยัดพลังงานสำหรับยานยนต์ที่ดำเนินการในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดย มร. เคอร์เนอร์ เน้นที่ตัวอย่างนโยบาย/มาตรการที่ช่วยส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และยังชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีจะนำไปสู่การใช้เชื้อเพลิงที่ลดลงและประหยัดพลังงานมากขึ้น รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
ช่วงที่ 2: การขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์สีเขียว
หลังจากที่ มร. สุมิต โปเครล จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้นำเสนอความคิดริเริ่มด้านการขนส่งสินค้าสีเขียวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มร. โรลันด์ ฮาส ผู้อำนวยการโปรแกรมเยอรมัน-อาเซียนด้านเมือง สิ่งแวดล้อม และการขนส่ง ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับศักยภาพในการประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง TCC ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมการขนส่งสินค้าสีเขียวในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโครงการใหม่ “การขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)” ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสหภาพยุโรป มาช่วยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง การปรับปรุงการจัดการด้านความปลอดภัย และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ โครงการฯ ยังส่งเสริมการติดฉลากรถบรรทุก แผนปฏิบัติการการขนส่งสินค้าสีเขียว และการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์อีกด้วย
ช่วงที่ 3: ยานพาหนะสองล้อที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงในภูมิภาคอาเซียน
แม้ว่ายานพาหนะสองล้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถจักรยานยนต์ จะมีจำนวนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนยานพาหนะทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียน แต่การให้ความสำคัญด้านนโยบายกับยานพาหนะสองล้อนั้นยังมีน้อยมาก ดร. ฮอไรซอน วอล์คเกอร์ จิทาโน-บริกส์ – ที่ปรึกษาของโครงการ TCC ที่กำลังจัดทำรายงานข้อมูลและนโยบายด้านการขนส่งทางบกของประเทศมาเลเซีย ได้อธิบายว่าเหตุใดยานพาหนะสองล้อจึงใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยกว่ารถยนต์ และมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีกว่า นอกจากนั้นยังยกตัวอย่าง โครงสร้างพื้นฐานเฉพาะมอเตอร์ไซด์ในประเทศมาเลเซีย เช่น ช่องทางสำหรับมอเตอร์ไซด์ และสะพานข้ามสำหรับมอเตอร์ไซด์ ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารยานพาหนะสองล้อได้
การประชุมทั้ง 3 ช่วงได้ให้ข้อมูลเชิงลึกในแต่ละประเด็นของมาตรการประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง การขนส่งสินค้าสีเขียว และยานพาหนะสองล้อ ทั้งนี้โครงการ TCC เพิ่งเริ่มเข้าสู่การดำเนินงานในระยะที่สอง (พ.ศ. 2559-2561) และกำลังดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ของโครงการ