หากพิจารณาจากการเติบโตของปริมาณยานพาหนะโดยรวมในภูมิภาคอาเซียนจะสูงเป็นอันดับสองของเอเชีย ส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนต้องเผชิญกับผลกระทบหลายๆ ด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศ และการจราจรที่แออัด การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์การดำเนินการดำเนินนโยบายต่างๆ
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมปีพ.ศ. 2560 ผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และสำนักเลขาธิการอาเซียน จึงได้มาหารือกันในงานประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคครั้งที่ 3 ในหัวข้อตัวชี้วัดด้านการขนส่งที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการขนส่งทางบกสำหรับภูมิภาคอาเซียน (TCC) ที่กรุงเทพฯ
ต่อเนื่องจากการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคครั้งที่ 2 ในเรื่องตัวชี้วัดด้านการขนส่งที่ยั่งยืน การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 นี้ ให้โอกาสผู้เข้าร่วมประชุมได้ทบทวนตัวอย่างของกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดทั้งในปัจจุบันและอดีตทั่วโลก โดยถอดบทเรียนจากความสำเร็จและปัญหาจากกระบวนการการจัดทำตัวชี้วัดที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมการประชุมได้หารือในประเด็นที่เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ ได้แก่ การคัดเลือก การตรวจวัด การแบ่งปัน และการติดตามตัวชี้วัดอย่างต่อเนื่องระหว่างทุกประเทศที่เข้าร่วม
จากการประชุม ผู้เข้าร่วมเห็นพ้องกันว่า นอกเหนือจากการรายงานข้อมูล จำเป็นต้องมีกรอบการติดตามที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถอธิบาย “ที่มาที่ไป” ของการดำเนินการต่างๆที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเกี่ยวกับความคืบหน้าอันนำไปสู่เป้าหมายการขนส่งที่ยั่งยืน การประชุมสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันทั่วทั้งภูมิภาคเพื่อจัดการกับความท้าทาย ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งยังกล่าวว่า ‘ไม่มีประเทศใดอยู่โดดเดี่ยว และพวกเราในห้องนี้ยังมีความหวัง’
นอกจากนี้ ระหว่างการประชุม ยังมีการหารือถึงข้อมูลและตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเห็นผล และไม่เป็นเงื่อนไขของอุปสรรคในการติดตามตรวจสอบ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ประเทศต่างๆ สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรีรอ ประเด็นดังกล่าวได้รับการชี้แจงจากนายซุเดียร์ โกตา วิทยากรร่วมและผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่ง กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมไม่ต้องรอให้ ‘ข้อมูล’ เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ แต่เราต้องเริ่มเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเอง
ข้อมูลที่นำเสนอทั้งหมด จะช่วยแนะแนวการจัดทำคู่มือแนวทางระดับภูมิภาคและแผนปฏิบัติการสำหรับตัวชี้วัดด้านการขนส่งที่ยั่งยืน คาดว่าร่างแรกจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยการจัดทำฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จในปีพ.ศ 2561 คู่มือแนวทางและแผนปฏิบัติการเป็นกิจกรรมสำคัญที่ระบุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การขนส่งกัวลาลัมเปอร์ของภูมิภาคอาเซียน ค.ศ. 2016-2025 (KLTSP)
การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคครั้งที่ 3 ในหัวข้อตัวชี้วัดด้านการขนส่งที่ยั่งยืนมีขึ้นก่อนการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางบกที่ยั่งยืนของอาเซียน ครั้งที่ 2 (EGSLT) ซึ่งการประชุม EGSLT จะนำไปสู่การดำเนินกิจกรรมด้านการขนส่งที่ยั่งยืนภายใต้แผน KLTSP และได้รับการสนับสนุนจากโครงการ TCC
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูเอกสารนำเสนอของการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรืออ่านรายงานโดยละเอียดของการประชุมเชิงปฏิบัติการ