ภาพ (จากซ้าย): 1. นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), 2. นางสาวคาโรลีน คาโพน ผู้อำนวยการโครงการ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย, 3. นายยาน แชร์ อุปทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย, 4. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, 5. นายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย และ, 6. นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการ สนข.
งาน “Moving towards low carbon transport: ก้าวไปสู่การขนส่งที่ยั่งยืนและงานปิดโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการขนส่งทางบกในภูมิภาคอาเซียน หรือ TCC จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคมพ.ศ. 2562 เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการผลักดันการดำเนินงานด้านการขนส่งที่ยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร นักวิชาการและภาคเอกชน จำนวนกว่า 160 คน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของภาคการขนส่งที่ส่งผลต่อมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการกล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ภาคการขนส่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงร้อยละ 19.2 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทย ดังนั้นการขนส่งในกรุงเทพมหานครจะต้องเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์เป็นหลักในการเดินทางมาเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยรถสาธารณะ การเดิน และการปั่นจักรยาน
นายยาน แชร์ อัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย รักษาการเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่าประเทศไทยมีแผนขยายรถไฟใต้ดินและรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา รวมทั้งการขยายโครงข่ายรถไฟใต้ดินและรถไฟฟ้าได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องมีการดำเนินงานอีกมากเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาคการขนส่ง เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงนานาชาติในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 หรือ 25 หากได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ
นอกจากนี้ ในช่วงเสวนาได้มีการนำเสนอและหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในปัจจุบัน โดย ดร.นุวงศ์ ชลคุป ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่องนโยบายประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และโครงการฯ จากการศึกษาพบว่ามาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยปรับปรุงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยของรถยนต์ใหม่จาก 7.08 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตรในปีพ.ศ. 2558 เป็น 6.75 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตรในปีพ.ศ.2560
และหากมีการปรับปรุงนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีก 4.75 ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งมาตรการนี้เพียงมาตรการเดียวจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ29 ของเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ในภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งได้ประกาศในการประชุมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 (COP21)
แม้ว่าการดำเนินงานของโครงการฯ จะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2562 แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีจะยังคงอยู่ โดยในช่วงท้ายของโครงการฯ จะยังมีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนกรมสรรพสามิต ในการศึกษาปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นางสาวคาโรลิน คาโปน ผู้อำนวยการการขนส่งอย่างยั่งยืนในประเทศไทยและอาเซียนของ GIZ ได้กล่าวว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562 GIZ จะดำเนินงานเกี่ยวกับการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน การแก้ไขการจราจรติดขัด การลดมลพิษทางอากาศ และการทำให้ชีวิตในเมืองน่าอยู่มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขนส่งในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและในเมืองรองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว