ซ้ายไปขวา: ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ* สผ. / มร. ไฮริช กูเดนุส ผู้อำนวยการโครงการ Risk NAP / นางพจนีย์ ขจรปรีดานนท์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ ยผ.
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเป็นเมือง
“เมือง” ไม่เพียงแต่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมีอัตราการใช้พลังงานสูงถึงร้อยละ 78 ของพลังงานทั้งโลก (UN HABITAT, 2561) แต่เมืองยังต้องเผชิญความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน การพัฒนาแบบไร้ทิศทางและการวางแผนเชิงพื้นที่ที่ไม่ยืดหยุ่นอาจทำให้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล น้ำท่วม พายุที่รุนแรงขึ้น หรือฤดูแล้งที่ยาวนานขึ้น ซึ่งล้วนส่งผลต่อโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการของภาคเมือง หรือแม้กระทั่งคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยปี พ.ศ.2554 ต้องใช้เงินถึง 76 ล้านเหรียญสหรัฐในการซ่อมแซมและฟื้นฟู โดยกรุงเทพมหานครจังหวัดเดียวใช้เงินถึง 8 ล้านเหรียญสหรัฐ (World Bank, 2555)
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) ตระหนักดีถึงประเด็นดังกล่าว จึงได้ร่วมหารือและวางแผนเพื่อขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือการวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561
การบูรณาการนโยบาย (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) สู่การปฏิบัติ
การหารือมุ่งประเด็นไปที่แผนปฏิบัติการ 5 ปีระหว่าง 2 หน่วยงาน และการสนับสนุนเพิ่มเติมจาก GIZ โดยโครงการสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติการจัดการความเสี่ยง (Risk-NAP) ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU)
แผนปฏิบัติการฯ มีเนื้อหาที่รวมถึงการกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันในเรื่องการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดตัวชี้วัดร่วม ขอบเขตการประเมินและติดตามผล การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพนักผังเมืองทั่วประเทศ การบูรณาการข้อมูลสภาพภูมิอากาศเข้ากับฐานข้อมูลการวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมถึงการวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นในพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาคู่มือ ที่รวมมิติของการติดตามประเมินผลและการออกแบบพัฒนาเมืองสำหรับการขยายผลในอนาคต
การบูรณาการเชิงนโยบายดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายใต้กรอบความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน แต่ยังพิจารณาถึงประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของประเทศและกรอบการพัฒนาระดับโลก เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 11 และ 13 ที่รับผิดชอบโดย 2 หน่วยงานถูกหยิบยกมาหารือ ในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปีถูกยึดนำมาเป็นกรอบการพัฒนาประเทศระยะยาวที่สนับสนุนการบูรณาการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การพัฒนาตามปกติของประเทศ
“แน่นอนว่ามันจะต้องมีขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นและสิ่งที่ต้องพิจารณามากขึ้นในการวางแผนเชิงพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นและเพิ่มภูมิคุ้มกันกับเมือง แต่สิ่งเหล่านี้สามารถบูรณาการเข้ากับการดำเนินงานและงบประมาณปกติได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว” นางพจนีย์ ขจรปรีดานนท์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ ยผ. กล่าว
การหารือครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนหลักการ ‘การบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ไปสู่การปฏิบัติผ่านการร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง “ในนามของ สผ. ผมต้องยอมรับว่าประทับใจมากที่เห็นผู้แทนจากเกือบทุกสำนักภายใต้ ยผ. มาร่วมหารือวันนี้ นี่แสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการดำเนินงานร่วมกัน สผ. มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมร่วมกับ ยผ.” ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ* สผ. กล่าวปิดการประชุม
การวางแผนเชิงพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่น สามารถช่วยติดตามการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศหรือเศรษฐกิจสังคม และการวางแผนที่มีความยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อมูลหรือสถานการณ์ใหม่เกิดขึ้น เพื่อให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด และเกิดประโยชน์ร่วมมากที่สุด และยังหมายถึงการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ที่แสวงหาความร่วมมือ ประสานแนวทางการดำเนินการด้านการปรับตัวเชิงพื้นที่ คำนึงการมีส่วนร่วมของกลุ่มเปราะบาง และการสนับสนุนเชิงนโยบายและจากภาคีสาธารณะ
ที่มา: Birkmann, 2561
GALLERY