ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และมร. ไฮน์ริช กูเดอนุส ผู้อำนวยการโครงการแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติการจัดการความเสี่ยงของ GIZ ได้หารือเรื่องความร่วมมือในการออกแบบและพัฒนาเมือง เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนการตั้งถิ่นฐานและความปลอดภัยของมนุษย์ ซึ่งการอภิปรายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการวางแผนปรับตัวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนการตั้งถิ่นฐานและความปลอดภัยของมนุษย์: การวางแผนเมืองที่เหมาะสมและการออกแบบเมืองที่ยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ – มุ่งสู่วาระการพัฒนาเมืองใหม่ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ปี พ.ศ. 2561
นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาเมืองแล้ว ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น อุทกภัย ความร้อน การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ก็เป็นปัจจัยที่น่ากังวลสำหรับการวางแผนเชิงพื้นที่ในทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่น ภูมิภาคและระดับประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชากร ระบบนิเวศ โครงสร้างพื้นฐานและบริการของเมือง ดังนั้นการวางแผนเมืองและพื้นที่เชิงปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น การเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้กับเมือง และการนำมาตรการการปรับตัวมาปฏิบัติเป็นข้อตกลงหลักในการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่วาระเมืองใหม่ และปัจจัยสำคัญในการพัฒนาด้านการวางแผนเมืองและพื้นที่ คือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 จัดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายและเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและมาตรการปรับตัวที่มีอยู่เพื่อตอบสนองต่อภัยจากสภาพภูมิอากาศ การประชุมเริ่มต้นด้วยการอภิปรายระหว่าง ดร.รวีวรรณ ภูริเดช นายอนวัช สุวรรณเดช และมร. ไฮน์ริช กูเดนุส ในเรื่องของการทำงานร่วมกันและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ผ่านการวางแผนและการออกแบบเมืองที่ปรับตัวได้ พื้นที่ในฝั่งอันดามันได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องในระดับภูมิภาค
การอภิปรายเน้นถึงผลกระทบของความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อระบบเมือง รวมทั้งความสำคัญของการวางแผนเมืองและพื้นที่ในระยะยาว ซึ่งจะต้องนำความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศมาพิจารณา นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอการตอบสนองของการปรับตัวของเมืองและเครื่องมือปรับตัวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นมาตรการเชิงโครงสร้างและที่ไม่ใช่เชิงโครงสร้าง จากนานาประเทศอีกด้วย ประเด็นสำคัญ ปัญหา โอกาส และแนวโน้มการพัฒนาเมืองในบริบทของประเทศไทยถูกนำเสนอเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตระหนักถึงความสำคัญของความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน และทบทวนแผนงานการพัฒนาเมืองและพื้นที่ที่มีอยู่
ผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผู้จัดทำแผนงานด้านภูมิศาสตร์และเมืองจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ดำเนินการจากสำนักผังเมืองรวม สำนักผังประเทศและผังภาค สำนักวิศวกรรมการผังเมือง รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอนามัย กรมการท่องเที่ยว ผู้ร่วมประชุมได้ทบทวนและอภิปรายเกี่ยวกับแผนการปรับตัวในปัจจุบัน มาตรการและเครื่องมือที่มีอยู่ที่ใช้ในการรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงที่นำไปสู่การเป็นเมืองที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้