กรมการท่องเที่ยวและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย
สภาพอากาศ เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของสถานที่ท่องเที่ยว การท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น มีจังหวัดทางภาคเหนือที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนไทย ที่จะได้มาสัมผัสอากาศหนาวเย็นท่ามกลางภูเขาที่เขียวขจี อีกทั้งแนวชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะ
ทางภาคใต้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่หลงใหลในหาดทรายขาวและโลกใต้น้ำที่อุดมสมบูรณ์จะเกิดอะไรขึ้น หากอุณหภูมิและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป เช่น ภาคเหนือไม่มีอากาศที่หนาวเย็นอีกต่อไป ปะการังฟอกขาวในหมู่เกาะทางตอนใต้ ชายฝั่งได้รับความเสียหาย หรือแม้กระทั่งน้ำท่วมนอกฤดูหรือเป็นเวลานานในกรุงเทพฯ ชาวไทยยังจะเดินทางไปท่องเที่ยวภาคเหนือ หรือชาวต่างประเทศยังจะเดินทางมายังประเทศไทยหรือไม่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เช่น การประกันภัย การจัดการพลังงาน การบริการขนส่ง น้ำและความมั่นคงด้านอาหาร จะเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว นี่เป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่ตัวอย่างที่อาจเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนภูมิภาคอื่นๆ อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันหรือคล้ายกันไม่มากก็น้อย ซึ่งประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอับดับ 10 ของประเทศที่เผชิญความเสี่ยงตามดัชนีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี พ.ศ. 2562 (องค์กร Germanwatch)
การท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาสภาพอากาศ เพื่อรับมือกับผลกระทบเหล่านี้ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและเตรียมพร้อมเพื่อคงความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวในตลาดโลก ความอุดมสมบูรณ์ของสถานที่ท่องเที่ยว และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน สผ.ได้มีการวางยุทธศาสตร์ด้านการปรับตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ
สผ. และกรมการท่องเที่ยว ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติการจัดการความเสี่ยงขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับเจ้าหน้าที่ด้านการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยว สมาคมการท่องเที่ยว องค์กรวิจัย และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในพิธีเปิดการประชุม นางสาวพิตรจิรา มณีเนตร รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยวได้กล่าวถึงความสำคัญของการฝึกอบรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการว่า “เราร่วมมือกันเพื่อกำหนดกรอบการดำเนินงานด้านการปรับตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในอนาคต”
ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งประเทศไทย ออสเตรเลีย และเยอรมนี ได้ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เครื่องมือ วิธีการ กระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคม การส่งเสริมนโยบายและการดำเนินการด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการอภิปรายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับปัจจัยทางภูมิอากาศที่สำคัญ ลำดับความสำคัญของภาคการท่องเที่ยว การประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และผลลัพธ์ความเสี่ยง เพื่อเป็นแนวทางในการประเมินความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ในภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการพูดถึงบทบาทและหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบูรณาการนโยบาย รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงภัยที่เผชิญกับผลกระทบ อันตรายและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สำคัญของรัฐบาลไทย
ขั้นตอนต่อไปที่หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ควรดำเนินการคือ
- ประเมิน และวิเคราะห์ข้อมูลการท่องเที่ยว (เช่น สถิติที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ) รวมทั้งข้อมูลสภาพภูมิอากาศ
- จัดทำแผนภูมิของสถาบัน องค์กรที่เกี่ยวข้อง และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กร
- ประชุมกับผู้นำหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญ
- ผสมผสานแนวคิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีตัวชี้วัด และวิเคราะห์ความเสี่ยงในแผนงาน
- ระบุความเสี่ยงที่สำคัญ และวางกรอบเพื่อประเมินความเสี่ยงของภาคการท่องเที่ยวในรายละเอียด
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวชั้นนำของโลกที่มีธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ การบริการต้อนรับ และทำเลที่เหมาะสมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ.2560 ประเทศไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับ 10 ของโลก และมีรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 4 (องค์การการท่องเที่ยวโลก) ในปี พ.ศ.2561 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยว 38.27 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากปี พ.ศ.2560 ในปี พ.ศ. 2559 รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 17.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังเป็นแหล่งงานมากกว่า 4.2 ล้านงาน หรือร้อยละ 11 ของการจ้างงานในประเทศทั้งหมด (แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2)