“กินข้าวหรือยัง” ประโยคนี้อาจจะฟังดูแปลกสำหรับชาวต่างชาติ แต่สำหรับคนไทยนั้น เป็นประโยคที่ใช้พูดทักทายกันเป็นประจำ
ข้าวถือเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทย และไม่ได้เป็นอาหารหลักของประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียก็บริโภคข้าวเช่นกัน
ในส่วนของประเทศไทย มีพื้นที่ทำนาสำหรับผลิตข้าวถึง 70.42 ล้านไร่ ในปี พ.ศ. 2561-2562*
ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยและการปลูกข้าวในประเทศด้วย
ลองคิดดูว่า ถ้าการผลิตข้าวของเราลดลง สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ราคาข้าวจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยจะยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกได้หรือไม่ หรือเราสามารถหารายได้จากภาคส่วนอื่นๆ ได้แทน และวิถีชีวิตรวมถึงรายได้ของชาวนาไทยจะเปลี่ยนไปไหม แน่นอนว่าจะยังคงมีคำถามอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย
ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของโลก (SEA Start RC) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนมิติการจัดการความเสี่ยง (Risk-NAP) ของ GIZ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบเกษตรที่มีข้าวเป็นหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งครอบคลุมจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา และปทุมธานี พื้นที่ในจังหวัดเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระบบนิเวศเกษตรย่อย คือ ระบบเกษตรชลประทานที่ลุ่ม ระบบเกษตรชลประทาน (พื้นที่รับน้ำ) ที่ลุ่มต่ำ ระบบเกษตรชลประทานที่ดอน และระบบเกษตรนอกเขตชลประทานที่อาศัยน้ำฝน
จากการศึกษาของ SEA Start RC พบว่ามีความเสี่ยงในลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลักๆ ดังนี้
- ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอาจมีปริมาณน้ำฝนที่สูงขึ้น ดังนั้นโอกาสเกิดน้ำท่วมรุนแรงมีสูง ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อการปลูกข้าว
- ความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้วอาจเกิดขึ้น เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น และฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียน้ำในระบบชลประทาน และความ
- ต้องการน้ำในการปลูกพืชในฤดูแล้งก็จะสูงขึ้น การชลประทานในพื้นที่การปลูกข้าวในฤดูร้อนก็จะมีจำกัด
- การเคลื่อนของฤดูฝนทำให้ข้าวพันธุ์ไวแสงเข้าสู่สภาวะเครียดมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมสูงขึ้นก่อนการเก็บเกี่ยว
- อุณหภูมิที่สูงขึ้นในฤดูร้อน ทำให้ข้าวในฤดูร้อนเกิดสภาวะเครียด
ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการข้าว สถาบันคลังสมองของชาติ เศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานชลประทาน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้พบปะหารือ เพื่อให้ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการรับมือ และปรับตัวต่อความเสี่ยงของระบบนิเวศเกษตรย่อย ที่มีข้าวเป็นหลักในพื้นที่กลุ่มจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 ระบบ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงโครงการและมาตรการในปัจจุบันของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นถึงการรับมือกับสถานการณ์ภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 3 สถานการณ์ว่าจะเพียงพอหรือไม่ เช่น น้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกหนัก ภัยแล้ง หรือการขาดแคลนน้ำ ที่เกิดจากปริมาณฝนน้อย อุณหภูมิสูงในช่วงฤดูร้อน รวมถึงโครงการและมาตรการอื่นๆ
เราจะรับมืออย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญเสนอข้อแนะนำเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มเติม ดังนี้
- เก็บพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวตามลักษณะภูมิศาสตร์ ไว้เช่นเดิม
- ใช้การปลูกพืชแบบผสมผสานในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการผลิตที่น้อยเกินไปและการสูญเสียรายได้
- เปลี่ยนบางพื้นที่ที่ไม่เหมาะสำหรับการทำเกษตรไปทำประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งลดพื้นที่การทำนา
ตัวเลือก ข้อแนะนำ และวิธีการที่เสนอโดยผู้เชี่ยวชาญ จะนำไปพูดคุย ขอคำปรึกษาและความคิดเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ลำดับต่อไป
*ข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผน กระทรวงมหาดไทย