กรมอนามัยและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เตรียมความพร้อมในการดำเนินงานด้านความเสี่ยงสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยฝ่ายบริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสริมสร้างความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแนวทางต่างๆ เพื่อพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ กิจกรรมของกรมทุกระดับ ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนสูงขึ้น ภัยพิบัติจากธรรมชาติมีความรุนแรงขึ้น โรคติดต่อนำโดยแมลงและโรคที่มาจากน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชากรและส่งผลถึงระดับโลก และเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างเร่งรัด
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2561 สผ. กรมอนามัย และโครงการแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติการจัดการความเสี่ยง (Risk NAP) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานด้านความเสี่ยงสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับผู้บริหารในระดับนโยบาย โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ความรู้และวิธีปฏิบัติที่ได้จากการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติตามแนวทาง (ร่าง) แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และ (ร่าง) แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข พ.ศ. 2561 – 2573
ดร. กลย์วัฒน์ สาขากร นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานประจำการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในระหว่างการประชุมว่า “ขณะนี้เรากำลังร่างแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติฉบับแรกของไทย และจะเสนอคณะรัฐมนตรีในปลายปี ซึ่งในการวางแผน มีการดำเนินงานร่วมกับหลายหน่วยงาน” นอกจากนี้ ดร. กลย์วัฒน์ ยังกล่าวย้ำว่า “นี่เป็นงานที่ไม่สามารถทำได้โดยองค์กรเดียว แนวทางหลักคือการบูรณาการและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”
สผ.ได้เริ่มร่างแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติในปี พ.ศ. 2558 โดยกระบวนการแรกคือ การศึกษาความเปราะบางของสาขาพื้นที่ (6 ยุทธศาสตร์) ในปีแรก และรวบรวมแนวทางในการปรับตัวในปีที่สอง แนวทางการเตรียมความพร้อม (เมื่อแผนได้รับการเห็นชอบจาก ครม.) ได้แก่
1. การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร
2.การพัฒนาองค์ความรู้ ระบบฐานข้อมูลการวิจัย การพัฒนาระบบเฝ้าติดตามและประเมินผล และการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทั่วไป
3. การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ
4. การจัดระบบการบริหารจัดการองค์กรให้มีความสอดคล้องกับแผน รวมทั้งการจัดทำงบประมาณและระบบการเงินและกลไกการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
5. การสร้างความเชื่อมโยงความร่วมมือจากท้องถิ่นสู่ระดับนานาชาติ
จากที่กล่าวมาข้างต้น หลักการเหล่านี้จะถูกนำไปพัฒนาใน 6 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลาง จังหวัดอุดรธานี กลุ่มจังหวัดทางทะเลอันดามัน จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดมหาสารคาม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการขยายผลในพื้นที่อื่นๆ
ดร. แคทริน โบเว่น ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้ให้คำแนะนำว่า สิ่งที่สำคัญจากการถอดบทเรียนสำหรับภาคสาธารณสุขในประเทศไทย ก็คือต้องมีการประสานงานและการร่วมมือกัน เนื่องจากผลกระทบด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจากหลายภาคส่วน ดังนั้นความสำคัญขั้นพื้นฐานคือความร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.นพ. พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าศูนย์วิจัย START แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และข้อมูลจาก ECHAMA4 คาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกที่ในประเทศไทยจาก 34-36 องศาเซลเซียส เป็น 38-40 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ศ.ดร.นพ. พงศ์เทพ ยังให้คำแนะนำและกลไกต่างๆ เกี่ยวกับระบบเตือนภัยของคลื่นความร้อนและสุขภาพในหลายๆ ระดับของประเทศไทยอีกด้วย ในตอนท้ายของการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทำงานร่วมกันและนำเสนอแผนเตรียมการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่อสุขภาพจากคลื่นความร้อน ความเจ็บป่วย และการเสียชีวิตจากภัยน้ำท่วมตามแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ