ความเป็นมา
ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบปรับอากาศและทำความเย็นของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ปัจจุบันสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 ของประเทศ ซึ่งหากไม่มีมาตรการใดๆคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าภายในปี พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ภาคระบบปรับอากาศและทำความเย็นยังเป็นส่วนที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและการใช้สารทำความเย็นที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming Potential (GWP) ที่สูง ดังนั้น การปรับปรุงเทคโนโลยีจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้แสดงเจตจำนงไว้
วัตถุประสงค์
เพื่อสนับสนุนให้ภาคระบบปรับอากาศและทำความเย็นของไทยเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและเป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศ โดยสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และพัฒนากลไกทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แนวทางการดำเนินงาน
การสนับสนุนด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี
- ส่งเสริมให้ผู้ผลิตนำผลิตภัณฑ์ทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและถูกต้องตามกฏเข้าสู่ตลาด โดยผู้ผลิตจะได้รับการฝึกอบรมและการสนับสนุนเงินลงทุนเพื่อปรับปรุงสายการผลิต
- พัฒนาหลักสูตรและจัดการฝึกอบรมด้านการจัดการมาตรการความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและช่าง
- สนับสนุนและดำเนินงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายควบคุมอาคารเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติที่ดีและเป็นสากล
การสนับสนุนด้านการใช้เทคโนโลยี
- สาธิตแนวทางการปฏิบัติที่ดีโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน การติดฉลากสินค้าและการเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินอื่นๆ ให้แก่ผู้บริโภค
- สนับสนุนกลุ่มผู้ใช้ภาคธุรกิจ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและโรงแรม เพื่อพัฒนาโครงการและธุรกิจในทิศทางที่คำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและใช้อุปกรณ์เครื่องปรับอากาศและทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- สนับสนุนการดำเนินมาตรการเพิ่มแรงจูงใจหรือกลไกทางการเงินให้แก่กลุ่มผู้บริโภค เพื่อเพิ่มอุปสงค์การซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
ส่วนการดำเนินนโยบาย
สนับสนุนรัฐบาลไทยในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC) เพื่อแสดงประสิทธิภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทำตามข้อตกลงทางนโยบาย นอกจากนี้โครงการยังสนับสนุนการจัดตั้งระบบการวัดผล การรายงานผล และการทวนสอบ (MRV System) สำหรับภาคส่วนอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น (RAC) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรายงานผลที่เกี่ยวข้องตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้ รวมทั้งส่งเสริมเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนนี้เพิ่มขึ้น
ส่วนเทคโนโลยีและการฝึกอบรม
- ผู้ประกอบการ: ผู้ประกอบการ 9 รายได้รับความรู้ทางเทคนิคอย่างเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนสายการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ่านการตรวจสอบระบบความปลอดภัยในโรงงาน รวมถึงการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
- ช่างบริการและครูฝึก: จัดศูนย์ฝึกอบรมจำนวน 8 แห่งและจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมการจัดการสารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัยให้กับหัวหน้าช่างและครูฝึกช่าง ซึ่งจัดการฝึกอบรมไปแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง และมีครูต้นแบบรวมกว่า 200 คน
- การทดสอบ: จัดตั้งศูนย์ทดสอบและฝึกอบรมเพื่อยกระดับบุคลากรของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในการทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล (เช่น IEC และ EN)
ส่วนการสนับสนุนทางการเงิน
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ได้มีการจัดตั้งกองทุน RAC NAMA ขึ้นด้วยเงินทุนรวมจำนวน 8.3 ล้านยูโร หรือประมาณ 300 ล้านบาท โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในนามรัฐบาลไทยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนเพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคเทคโนโลยีสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยในระยะเวลากว่า 2 ปี กฟผ. ได้สนับสนุนเงินทุนผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ ทั้งด้าน การผลิต การบริโภค และภาคบริการ ได้แก่
- เงินสนับสนุนจำนวนกว่า 10 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- เงินสนับสนุนเพื่อออกสินเชื่อระยะสั้น 1 ปี ปลอดดอกเบี้ย จำนวน 52 ล้านบาทเพื่อให้กับผู้ผลิตได้ใช้ปรับเปลี่ยนสายการผลิต
- เงินอุดหนุนแบบให้เปล่าให้กับผู้ผลิตจำนวนกว่า 90 ล้านบาท สำหรับการปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติ
- เงินอุดหนุนจำนวน 15 ล้านบาทในการจัดหาอุปกรณ์สำหรับฝึกอบรมและจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม 8 แห่งทั่วประเทศ
- เงินสนับสนุนปลอดดอกเบี้ยจำนวนกว่า 155 ล้านบาทสำหรับการดำเนินงานมาตรการทางการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย
สนับสนุนงบประมาณโดย
- NAMA Facility
- กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
- Department of Business, Energy & Industrial Strategy
ประเทศ
ไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
เมษายน พ.ศ. 2559 – กรกฎาคม พ.ศ. 2564