ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ “เทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียว” ในระบบเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้ นับเป็นเรื่องที่ท้าทาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น(RAC NAMA) จึงร่วมผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทย ให้หันมาใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
R290 คือ สารทำความเย็นธรรมชาติ ที่มีค่าศักยภาพการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (ODP) เท่ากับ 0 และมีค่าศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ต่ำมาก จึงไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน และมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้แทนสารทำความเย็นเดิมชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ดี เนื่องจากสาร R290 จัดเป็นสารที่ติดไฟง่าย โครงการฯ จึงจัดให้มีการจัดสาธิตการทดสอบความปลอดภัยและจำลองการรั่วไหลของสาร R290 ในระบบปรับอากาศนี้ขึ้นร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่ม อาทิ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) สำนักคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เมื่อวันที่ 29-31 มกราคม พ.ศ. 2563 เพื่อแสดงให้เห็นว่าสาร R290 สามารถใช้งานได้โดยไม่มีอันตรายใดๆ ภายใต้เงื่อนไขว่าผลิตภัณฑ์จะต้องได้รับการออกแบบตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง (มาตรฐาน IEC 60335-2-40 สำหรับเครื่องปรับอากาศ) ทั้งนี้ การติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ต้องดำเนินการโดยช่างเทคนิคที่ได้รับการฝึกอบรมที่เหมาะสมและสามารถปฏิบัติงานได้ตามข้อกำหนด หลักเกณฑ์ และมาตรฐานเท่านั้น
“การทดสอบในครั้งนี้เป็นการทดสอบสารทำความเย็นที่ติดไฟครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งผลที่ออกมามีประโยชน์มากสำหรับภาคของผู้ผลิตอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น ซึ่งจะเห็นจุดบกพร่อง และจุดที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการออกแบบและผลิตเครื่องทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่ติดไฟ สำหรับผู้บริโภค ผลการทดสอบนี้สามารถคลายความกังวลเรื่องของความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่ติดไฟ เพราะผลที่ได้มีโอกาสติดไฟได้น้อยมากๆ หากผลิตภัณฑ์นั้นได้ผ่านมาตรฐานต่างๆ ตามที่กำหนดก่อนส่งไปถึงมือผู้บริโภค” อ.ศรทัต ขำดำรงเกียรติ อาจารย์พิเศษประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการทำความเย็นและการปรับอากาศ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ทำการทดสอบการรั่วกล่าว
สารทำความเย็นธรรมชาติ R290 หรือ โพรเพน (Propane) จัดเป็นสารประเภท A3 หรือ “ติดไฟง่าย” ซึ่งทำให้ต้องผนวกรวมมาตรการความปลอดภัยบางประการไว้ในการออกแบบอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดไฟ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีแหล่งกำเนิดการติดไฟที่ทำให้บริเวณที่มีสารติดไฟสะสมอย่างเข้มข้นลุกไหม้ได้
ภาพที่ 1 การทดสอบการจำลองแหล่งกำเนิดการติดไฟและการรั่วไหล (SOILST): ดำเนินการให้กับห้องปฏิบัติการและหน่วยงานกำกับดูแลด้านมาตรฐาน และผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดบริเวณที่อาจเป็นอันตราย (ติดไฟได้) ภายในและบนอุปกรณ์ ที่คาดว่าเป็นแหล่งต้นตอการติดไฟ ค่าความเข้มข้นทั้งหมด ณ จุดที่คาดว่าเป็นแหล่งกำหนดการติดไฟและการรั่วไหล (SOI) ที่วัดได้อยู่ในระดับต่ำกว่าขีดจำกัดการจุดติดไฟล่าง (LFL) หรือค่าความเข้มข้นระดับต่ำสุดที่สามารถติดไฟได้เมื่อมีแหล่งกำเนิดการติดไฟ จึงอาจสรุปได้ว่า ไม่มีความเสี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากการรั่วไหลของสารทำความเย็นที่สามารถติดไฟได้ภายใต้การใช้งานในสภาวะปกติ
สารติดไฟไม่ใช่เรื่องใหม่ในเมืองไทย
สารทำความเย็นธรรมชาติ R290 ไม่ใช่สารติดไฟชนิดแรกที่ประเทศไทยนำมาใช้ ยกตัวอย่างเช่น ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซที่ประกอบด้วยก๊าซโพรเพน และก๊าซบิวเทน ซึ่งเป็นสารติดไฟง่ายก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ก่อนที่ก๊าซ LPG จะได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ในครัวเรือนอย่างทุกวันนี้ ต้องมีการออกมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดไฟ อาจกล่าวได้ว่า มาตรฐานด้านความปลอดภัยเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการนำสาร R290 เข้ามาใช้ในประเทศ
“ตอนนี้ประเทศไทยก็ใช้สารทำความเย็นบางชนิดที่ติดไฟอยู่ ตู้เย็นและตู้แช่รุ่นใหม่ๆ เดี๋ยวนี้ก็เป็นสาร R600a เกือบหมดแล้ว ซึ่ง R600a ก็เป็นโพรเพนเหมือนกับ R290 เพียงแต่มีความสามารถในการติดไฟต่ำกว่าสารทำความเย็นธรรมชาติ ซึ่งสารทำความเย็นที่ติดไฟนี้สามารถนำมาใช้ในเครื่องปรับอากาศได้ เพราะมีโอกาสในการติดไฟน้อยมาก เรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ การออกแบบและการผลิตเครื่องทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่ติดไฟให้ตรงตามมาตรฐานอุตสาหกรมต่างหาก เพื่อลดความเป็นไปได้ในการติดไฟ” อ.ศรทัต กล่าว
นอกจากมาตรฐานความปลอดภัยแล้ว ช่างติดตั้งและดูแลรักษาอุปกรณ์ก็มีบทบาทและความสำคัญอย่างมากเช่นกัน “เนื่องจากสารทำความเย็นธรรมชาติสามารถติดไฟได้ ช่างควรได้รับการอบรมและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสารทำความเย็นที่ติดไฟ เพื่อสามารถปฏิบัติตามแนวทางมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้สารได้อย่างถูกต้องและไม่เกิดความเสี่ยง ถ้าทุกอย่างผ่านตามมาตรฐานความปลอดภัยทั้งผลิตภัณฑ์ (EN 378-2: 2016 และ IEC 60335-2-40:2013) และช่างผ่านการอบรม มีความรู้ความสามารถ ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเลย” อ.ศรทัตกล่าวเสริม
ภาพที่ 2: การทดสอบการจำลองการรั่วไหลในห้อง (RoomLST) ดำเนินการให้กับผู้ผลิตตู้เย็นเชิงพาณิชย์และเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินค่าความเข้มข้นของสารทำความเย็นที่ติดไฟ ซึ่งเกิดจากการปล่อยรั่วอย่างฉับพลันเข้าไปในห้อง ภาพข้างต้นแสดงว่า ค่าความเข้มข้นของสารทำความเย็นที่เกิดจากการจำลองการรั่วไหล ทั้งในกรณีที่พัดลมเปิด (ซ้าย) และในกรณีที่พัดลมปิด (ขวา) ณ ทุกจุดที่ทำการวัดมีค่าต่ำกว่าร้อยละ 50 ของขีดจำกัดการจุดติดไฟล่าง (LFL) ตลอดระยะเวลาการทดสอบ จึงสามารถสรุปได้ว่า ไม่มีความเสี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากการรั่วไหลของสารทำความเย็นที่สามารถติดไฟได้ภายใต้การใช้งานในสภาวะปกติ
โดยปัจจุบัน เครื่องปรับอากาศภายในห้องที่มีการจัดจำหน่ายตามท้องตลาดบ้านเรายังไม่มีการปรับเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำยา R290 ที่มีค่าศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนเท่ากับ 3 แต่ยังคงใช้น้ำยา R32 เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีค่าศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอยู่ที่ 677 ตามด้วยน้ำยา R410a ที่มีค่าศักยภาพดังกล่าวสูงถึง 1,932