ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม และสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง ทุกๆ ปี ประชากรโลกราว 200 ล้านคนได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ แม้ว่าการสูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงทางธรรมชาติจะมีจำนวนน้อยลง แต่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจกลับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่น และมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสินทรัพย์ของภาครัฐและเอกชนก็มีสูงขึ้นด้วย ซึ่งไม่บ่อยนักที่จะมีการนำประเด็นความเสี่ยงจากภัยพิบัติมาพิจารณาร่วมกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเขตเมืองและเขตเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเสียหายต่อการลงทุนของภาครัฐและเอกชนได้ ในรายงานการประเมินของสหประชาชาติ ปี 2558 (Global Assessment Report (GAR) 2015) จัดทำโดยสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Office for Disaster Risk Reduction (UNISDR)) พบว่าในแต่ละปี ภัยพิบัติได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.5 แสนล้าน ถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีการคาดการณ์ว่ามีการจัดสรรงบประมาณเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติประมาณ 6 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียได้เป็นมูลค่าถึง 3.6 แสนล้านเหรียญในอีก 15 ปีข้างหน้า
การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะต้องใช้งบประมาณแล้ว ยังต้องใช้ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ โครงการริเริ่มด้านการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติระดับโลก เป็นโครงการของรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยได้รับงบประมาณจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อตอกย้ำการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงการบริหารจัดการเสี่ยงภัยพิบัติทั่วโลก
วัตถุประสงค์
สร้างเวทีเครือข่ายสำหรับผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันและนานาชาติ รวมทั้งผู้ให้บริการต่างๆ เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ รวมทั้งผสานแนวทางที่มีประสิทธิผลของแต่ประเทศเข้ากับบริการ เครื่องมือ และเทคโนโลยีของเยอรมัน
โครงการดำเนินงานโดยเน้น 3 ด้าน คือ
- การเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและการป้องกันพลเรือน
- โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและวงจรเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความเสี่ยง
- ระบบสัญญาณเตือนภัย
แนวทางการดำเนินงาน
ด้วยความร่วมมือกับภาคีจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งภาคการศึกษาและภาคประชาสังคม โครงการริเริ่มการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติระดับโลก ร่วมคิดค้นแนวทางแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เยอรมนีมีส่วนร่วมกับทั่วโลกในการลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ โดยส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนและร่วมมือในการคิดค้นแนวทางสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ
ในการลดผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องมีการค้นหาปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ และพัฒนาแนวทางแก้ไขเฉพาะเจาะจงสำหรับปัญหาที่แตกต่างกันไป และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้นั้น สิ่งสำคัญก็คือการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความเสี่ยง สนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมทั่วภูมิภาค
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.gidrm.net