ไทย-ฟิลิปปินส์ ร่วมแลกเปลี่ยนด้านการบริหารจัดการน้ำด้วยมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ
คณะจากประเทศไทยลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่และชุมชนท้องถิ่นเพื่อศึกษาดูงานมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ณ เมืองคาบันคาลัน ประเทศฟิลิปปินส์
- โครงการ E-WMSA จัดการศึกษาดูงานในประเทศฟิลิปปินส์เพื่อให้ตัวแทนจากไทยได้เรียนรู้แนวทางปฏิบัติ ด้านการบริหารจัดการลุ่มน้ำแบบองค์รวมอย่างมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการมีส่วนร่วมของกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์
- การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและการสนับสนุนเชิงนโยบายเป็นกุญแจสำคัญของการดำเนินการมาตรการ EbA ให้ประสบความสำเร็จ
- ด้วยสภาพพื้นที่ของฟิลิปปินส์แตกต่างจากประเทศไทย จึงต้องเข้าใจบริบทของพื้นที่ก่อนที่จะออกแบบมาตรการ EbA ที่เหมาะสมได้
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture: E-WMSA) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ดำเนินงานโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ร่วมกับกรมชลประทาน ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนและศึกษาดูงาน ณ ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยตัวแทนจากประเทศไทย 14 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำจากจังหวัดพิษณุโลก ได้เรียนรู้การดำเนินงานภายใต้โครงการ Ecosystem-based management and ecosystem services valuation in two river basins in the Philippines (E2RB) ที่ดำเนินการโดย GIZ ประจำประเทศฟิลิปปินส์ร่วมกับกรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Department of Environment and Natural Resources, DENR) ซึ่งสนับสนุนการนำมาตรการ EbA มาใช้ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำอิล็อก-ฮิลาบังกัน พร้อมกระตุ้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งส่วนราชการ เอกชน และชุมชนในพื้นที่
การศึกษาดูงานในครั้งนี้มีจุดประสงค์ที่จะให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือร่วมกับผู้ปฏิบัติและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ถึงแนวทางในการนำมาตรการ EbA มาใช้อย่างมีส่วนร่วม รวมถึงความท้าทายในการดำเนินงานและโอกาสในการนำมาตรการ EbA มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยจะนำแนวคิดและกระบวนการที่ได้จากประเทศฟิลิปปินส์มาพิจารณาปรับใช้ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ E-WMSA อย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นำร่องโครงการฯ ในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์
ดร.นานา คึนเคล ผู้อำนวยการโครงการ การนำเสนอเกี่ยวกับมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนเชิงนโยบาย
องค์กรภาคีภายใต้โครงการ E2RB นำเสนอประเด็นการจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยนำมาตรการ EbA มาใช้ในการแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยชุมชนท้องถิ่นได้จัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ถูกทำลาย ขณะที่ในระดับกลางน้ำได้มีการสนับสนุนให้ปลูกพืชท้องถิ่นตามแนวตลิ่งเพื่อป้องกันปัญหาการกัดเซาะ อีกทั้งมีการสนับสนุนให้ทำแนวกันชนระหว่างพื้นที่ป่า พื้นที่เมือง และพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อลดปัญหาตะกอนและการปนเปื้อนของสารเคมีสู่ลำน้ำ รวมถึงการทำโครงการช่วยเหลือสังคม (CSR) จากผู้ผลิตน้ำประปาภาคเอกชนที่ให้ทุนสนับสนุนกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อทำการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ส่วนในระดับปลายน้ำได้มีการฟื้นฟูป่าชายเลนในบริเวณที่ประสบปัญหาพื้นที่ชายฝั่งเสื่อมโทรม ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยงานนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นภาครัฐจากสำนักงานควบคุมลุ่มแม่น้ำ กรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจากเทศบาลและผู้นำชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการชุมชน เข้าใจถึงความสำคัญของการที่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจนทำให้การดำเนินกิจกรรมโครงการประสบความสำเร็จ
หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ตัวอย่างมาตรการ EbA ในการจัดการปัญหาการกัดเซาะริมตลิ่ง โดยพืชท้องถิ่น “Miagos bush (Homonoia Riparia)” หรือ ต้นไคร้น้ำ มีบทบาทสำคัญในการลดการพังทลายของตลิ่งแม่น้ำและลดผลกระทบจากความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่น พร้อมร่วมสำรวจระบบนิเวศผ่านการล่องแพไม้ไผ่ในลุ่มแม่น้ำอิล็อก-ฮิลาบังกัน ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นต่อไป
นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น พืชพันธุ์ท้องถิ่นที่พบได้ตามลุ่มแม่น้ำ ยม-น่านของประเทศไทย ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายต้นไคร้น้ำของฟิลิปปินส์ แต่สามารถอยู่รอดในสภาวะน้ำท่วมและแห้งแล้งได้ โดยรากของต้นยังช่วยยึดเกาะตลิ่งริมแม่น้ำอีกด้วย อย่างไรก็ตามสภาพพื้นที่ในประเทศฟิลิปปินส์แตกต่างจากประเทศไทย การพิจารณาเลือกใช้มาตรการ EbA จึงต้องอาศัยการวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการ และความเหมาะสมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และชุมชนควรได้ประโยชน์ทั้งทางด้านรายได้และความหลายหลายทางชีวภาพที่เกิดขี้น
“ในนาผมมีต้นกรด ซึ่งเป็นไม้ที่น้ำท่วมขังนานๆ ไม่ตาย ลักษณะเหมือนไม้โกงกางชายทะเล เป็นที่อาศัยของปลา เมื่อสมัยก่อนมีเยอะมากที่ลำคลองบางแก้ว คลองเมม หรือแม่น้ำยมสายเก่า แต่พอเจองานขุดลอกก็เลยหายไปเยอะครับ แต่ก็ยังพอจะมีอยู่บ้าง ยังจะฟื้นฟูได้” คุณสมศักดิ์ บ่องเขาย้อย หนึ่งในคณะดูงาน ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก กล่าวถึงพืชท้องถิ่นในลุ่มน้ำยมว่าน่าจะทนน้ำท่วมได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับต้นไคร้น้ำที่ฟิลิปปินส์
ผลลัพธ์สำคัญของการศึกษาดูงานในครั้งนี้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการผลักดันเชิงนโยบายและการทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการลุ่มน้ำให้สามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนองค์ความรู้และประสบการณ์จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ยังสามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดแนวทางในการเสริมโครงการสิ่งก่อสร้าง หรือโครงสร้างพื้นฐานสีเทา (Grey Infrastructure) ด้วยมาตรการ EbA ให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร.นานา คึนเคล
ผู้อำนวยการโครงการ E-WMSA
อีเมล:nana.kuenkel(at)giz.de