GIZ เปิดตัวโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
- กรมชลประทาน UNDP และ GIZ ร่วมกันรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืนผ่านโครงการ E-WMSA
- โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2566-2569) พื้นที่เป้าหมายครอบคลุม 7 อำเภอ ใน 3 จังหวัดบริเวณลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน
- GIZ มีส่วนร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยการเสริมสร้างความสมบูรณ์ของโครงสร้างพื้นฐานสีเทาด้านการจัดการน้ำ ด้วยมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA)
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการระยะเริ่มต้น (Inception workshop) โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture: E-WMSA) โดยมีผู้แทนจากกรมชลประทาน ผู้แทนจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนผู้นำชุมชนและผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ และสุโขทัย เข้าร่วมประชุม
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความแปรปรวนของปริมาณฝนในปัจจุบัน ทำให้เกิดอุทกภัยและภัยแล้งรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำที่มีอยู่เดิมในลุ่มน้ำยม-น่าน ทั้งผลกระทบต่อการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ท้ายน้ำช่วงฤดูฝน กรมชลประทานจึงได้ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดำเนินโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (E-MWSA) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เพื่อบูรณาการกระบวนการบริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปกับการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมในการปรับตัวลดผลกระทบความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น
โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2566-2569) พื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการฯ ครอบคลุม 7 อำเภอ ใน 3 จังหวัดบริเวณลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ คิดเป็นพื้นที่ที่รับประโยชน์กว่า 125,000 ไร่ การดำเนินงานในพื้นที่นำร่องเพื่อต่อยอดการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อื่นๆ ภายใต้ 3 ผลลัพธ์หลักที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่
- ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลภูมิอากาศและการสื่อสารประสานงานระหว่างหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ปรับปรุงงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพโดยการเสริมสร้างความสมบูรณ์ของโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ ด้วยมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA)
- ลดความผันผวนของวิถีชีวิตเกษตรกรด้วยการส่งเสริมด้านการเกษตรและการวางแผนในระดับท้องถิ่น
ทั้งนี้ GIZ มีส่วนร่วมในการดำเนินการในส่วนผลลัพธ์ที่ 2 เป็นหลักคือ การปรับปรุงแผนการจัดการลุ่มน้ำยม-น่านเพื่อรับมือต่อวิกฤติภัยแล้งและอุทกภัยรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ผ่านการเสริมสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างสีเทาหรือสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างด้วยมาตรการ EbA และการบูรณาการแนวทาง EbA ให้เข้ากับนโยบายและการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้จะมีการเชื่อมโยงผลการดำเนินงานกับผลลัพธ์อื่นๆ ของโครงการต่อไป
ดร.นานา คึนเคล
ผู้อำนวยการโครงการ E-WMSA
อีเมล:Nana.kuenkel(at)giz.de