ความเป็นมา
น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันพืชที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 40 ของความต้องการน้ำมันพืชทั่วโลก ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับสามของโลก โดยร้อยละ 80 มาจากการผลิตของเกษตรกรรายย่อย การผลิตปาล์มน้ำมันเป็นแหล่งรายได้ครัวเรือนที่สำคัญของเกษตรกรรายย่อยกว่า 240,000 ครัวเรือน อย่างไรก็ตามการผลิตปาล์มน้ำมันมีความท้าทายด้านความยั่งยืนหลายประการ โดยทั่วไปเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันรายย่อยยังมีความรู้ที่จำกัดเกี่ยวกับแนวทางการจัดการสวนปาล์มแบบยั่งยืน ยังขาดเงินทุนในการปรับปรุงสวนของตนเอง ข้อจำกัดเหล่านี้มีผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ บางพื้นที่ปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มต่อพื้นที่ปริมาณน้อยยังนำไปสู่การบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอย่างผิดกฎหมาย
กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ตระหนักในความท้าทายเหล่านี้จึงได้ร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ในปี พ.ศ. 2561 ผ่าน โครงการการผลิตและการจัดหาน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Climate-Friendly Palm Oil Production and Procurement in Thailand: SCPOPP) ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน (BMUV) ภายใต้โครงการ International Climate Initiative (IKI) โครงการดังกล่าวได้สร้าง Thailand Oil Palm Smallholder Academy (TOPSA) เพื่อฝึกอบรมเกษตรกรรายย่อยในการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและสร้างแอปพลิเคชั่นการจัดการฐานข้อมูลสวนแบบดิจิทัล “i-PALM” ให้สอดคล้องตามมาตรฐาน Roundtable for Sustainable Palm Oil (RSPO) โครงการ SPOPP ต่อยอดจากโครงการ SCPOPP และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2565 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (Global Green Chemical Plc: GGC) และดำเนินการโดย GIZ การสนับสนุนของ GGC ช่วยให้มีการขยายผลจากกิจกรรมโครงการ SCPOPP ทำให้มีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มการเข้าถึงตลาดในประเทศไทยและทั่วโลก
วัตถุประสงค์
โครงการมีเป้าหมายในการส่งเสริมและเพิ่มการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรรายย่อยและสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับการรับรองตามมาตรฐาน RSPO
แนวทางการดำเนินงาน
1. การสร้างพันธมิตรระหว่างเกษตรกรรายย่อยและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
โครงการทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างพันธมิตรระหว่างกลุ่มเกษตรกรและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และสร้างแรงจูงใจสำหรับเกษตรกรรายย่อยในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน โดยการเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรกับห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนเพื่อเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมัน ทำให้มีการขายผลผลิตในราคาที่ยุติธรรม
2. การเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
โครงการมีการฝึกอบรมให้กับบุคลากรของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรวมทั้งเกษตรกรรายย่อยเพื่อเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมเกษตรกรและต่อยอดการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นได้มีการใช้เครื่องมือในการฝึกอบรมที่พัฒนามาจากหลักสูตร TOPSA ในการสร้างศักยภาพให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐาน RSPO
3. การรวบรวมข้อมูลการจัดการสวนปาล์มแบบดิจิทัล
การนำนวัตกรรมแอปพลิเคชัน i-Palm มาช่วยเก็บข้อมูลการจัดการสวนของเกษตรกรและการจัดการฐานข้อมูลเกษตร พร้อมติดตามข้อมูลและวางแผนในการปรับปรุงสวนในอนาคต ช่วยอำนวยความสะดวกในการสมัครสมาชิก RSPO และการตรวจสอบความก้าวหน้าในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐาน RSPOเสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการผลิตสินค้าเกษตรแบบยั่งยืนที่มีต่อสุขภาพและระบบนิเวศ
ผลการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมา
- เกษตรกรรายย่อยมากกว่า 1,000 ราย มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อการบริหารจัดการ โดยครอบคลุมพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 32,000 ไร่ ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ชุมพร กระบี่ ตรัง และพังงา
- บันทึกข้อตกลง 7 ฉบับ ที่มีการจัดทำขึ้นระหว่างกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเพื่อดำเนินการส่งเสริมการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
- วิทยากรจำนวน 49 ราย จากหลักสูตร TOPSA
- เกษตรกรมากกว่า 1,000 ราย ในประเทศไทยได้รับการฝึกอบรมในการปฏิบัติอย่างยั่งยืนและเตรียมความพร้อมสำหรับการรับรองตามมาตรฐาน
สนับสนุนงบประมาณโดย
บริษัท โกลบอล กรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC
ประเทศ
ไทย
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
กรกฎาคม พ.ศ. 2565 – มิถุนายน พ.ศ. 2567
ข้อมูลเพิ่มเติม
www.asean-agrifood.org