ความเป็นมา
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันตลาดโลกก้าวเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัล ตลาดการค้าข้ามพรมแดนขยายตัวยิ่งขึ้น โอกาสสำหรับธุรกิจ SMEs ที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดสากลก็มีมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามการขยายตัวของ SMEs เข้าสู่ตลาดทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคมักมีอุปสรรคเพราะขาดข้อมูล เครือข่าย และคู่ค้า ฉะนั้นการจับมือกับคู่ค้าที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจรวมถึงความเข้าใจต่อข้อกำหนดของนโยบายการค้าในปัจจุบันย่อมเป็นรากฐานสำคัญของ SMEs ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดสากล
อาเซียน (ASEAN) เล็งเห็นความสำคัญของ SMEs ในฐานะธุรกิจที่ช่วยกระตุ้น ผลักดัน เชื่อมต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคให้เดินหน้าต่อไปได้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีการแข่งขันสูง มีความเท่าเทียมทางดิจิทัล และยั่งยืนกว่าเดิมนั้นจึงมุ่งขยายฐานการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆโดย SMEs และเพื่อ SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ
ด้วยความร่วมมือกับคณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยอาเซียน (ACCMSME) โครงการฯสนับสนุนให้นำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียน ปี พ.ศ.2568 (SAPSMED 2025) มาปฏิบัติ โดยเน้นไปที่ 2 ประเด็นหลัก คือ 1) การปรับปรุงการเข้าถึงตลาดและการเข้าสู่สากลของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (1เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ C) 2) การยกระดับนโยบาย และสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ (2เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ D)
วัตถุประสงค์
โครงการ ASEAN SME II ดำเนินการต่อจากฐานประสบการณ์และเครือข่ายของโครงการ ASEAN SME ที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ โดยมีวัตถุประสงค์โดยรวมเพื่อควบรวมความร่วมมือระดับภูมิภาคเข้ากับความช่วยเหลือในระดับประเทศของสมาชิกอาเซียนบางประเทศ และมุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภูมิภาคและลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนั้นโครงการฯยังดำเนินการสอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Agenda 2030) โดยดำเนินโครงการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 8 กล่าวคือส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน และข้อที่ 9 การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน
แนวทางการดำเนินงาน
แพลตฟอร์มออนไลน์ ASEAN Access (www.aseanaccess.com) คือหัวใจของโครงการฯ ที่ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศร่วมกันเป็นเจ้าของ โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในฐานะแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคที่ให้บริการข้อมูลด้านธุรกิจอย่างครบวงจร ASEAN Access บ่งชี้ถึงความต้องการและขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมในอาเซียนที่พร้อมจะก้าวสู่การค้าสากล
ด้วยเหตุนี้ ASEAN Access จึงมีจุดเด่นในการเป็นพื้นที่จัดสัมมนาออนไลน์เกี่ยวกับเทรนด์ธุรกิจโลก และการจับคู่ธุรกิจ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจผู้ให้บริการ สมาคมธุรกิจ หรือกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายอื่นๆ โดยทางโครงการฯได้พัฒนาและเพิ่มฟังก์ชันใหม่ๆให้เว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบการเรียนรู้ออนไลน์ (E-learning) ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหลัก หรือความผันผวนของตลาดและทิศทางนโยบาย
ASEAN Access ใช้โครงสร้างการกำกับดูแลที่ผนวกภาครัฐบาลกับภาคเอกชนเข้าด้วยกัน โดยคณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยอาเซียน (ACCMSME) จะให้คำแนะนำด้านกลยุทธ์โดยตรงผ่านหน่วยงานเฉพาะกิจของแต่ละประเทศ และเครือข่ายภาคเอกชนจะเป็นผู้จัดทำกิจกรรมและหัวข้อในการเสวนาต่างๆ ตามความสนใจ อาทิ การจัดเสวนาที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการสตรี และทูตกิจกรรม ASEAN Access
ในขณะเดียวกันเว็บไซต์ ASEAN Access ก็ทำงานควบคู่ไปกับเว็บไซต์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมของแต่ละประเทศในอาเซียน ภายใต้กรอบการดำเนินงานของข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน โครงการฯยังคงดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนามอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ อาทิ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
การดำเนินงานที่ผ่านมา
- ฐานผู้เข้าใช้งานของแพลตฟอร์มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2564 ปัจจุบัน ASEAN Access มีฐานสมาชิกแล้วกว่า 2,900 ราย และมีพันธมิตรเครือข่ายทางธุรกิจกว่า 47 ราย โดยโครงการฯมุ่งหวังว่าประโยชน์และจุดเด่นของตัวแพลตฟอร์มจะช่วยขยายฐานผู้ใช้งานให้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
- ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจะจัดสรรเงินทุนและทรัพยากรบุคคลในจำนวนที่เหมาะสมไว้เพื่อดูแลและพัฒนาเว็บไซต์ ASEAN Access ทั้งในระยะสั้นและยาว ภายใต้วิสัยทัศน์ปี พ.ศ. 2568 ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เว็บไซต์ ASEAN Access จะถูกจดจำอย่างกว้างขวางในฐานะผู้ให้บริการด้านข้อมูลความรู้และผู้สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมในระดับภูมิภาคอาเซียน
- เฉกเช่นเดียวกัน โครงการฯคาดหวังจะขยายฐานผู้ใช้บริการเว็บไซต์ SMEs ของประเทศกัมพูชา และเวียดนามด้วยบริการใหม่ๆ การมีผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นและหลากหลายจะช่วยสร้างและเตรียมความพร้อมสู่การค้าสากลให้กับเครือข่าย SMEs ซึ่งข้อตกลงร่วมกันในการใช้งานเว็บไซต์ได้มีการปรึกษาและตกลงกันเรียบร้อยแล้วกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศสมาชิกอาเซียน
- หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในอาเซียนมีส่วนในการเข้าร่วมหารือเชิงนโยบาย โดยสามารถกำหนดหัวข้อนโยบายในอนาคตและข้อเสนอแนะได้ โดยจุดนี้สะท้อนผลลัพธ์ของตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนา SMEs อาเซียนปี พ.ศ. 2567 (ASPI) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (ACCMSME) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
ประเทศ
ระดับภูมิภาค / อาเซียน (ประเทศสมาชิก 10 ประเทศ)
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
คณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยอาเซียน (ACCMSME) และหน่วยงานระดับชาติที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ SMEs ของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยพันธมิตรในประเทศไทย คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 – สิงหาคม พ.ศ. 2568