ตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนา SMEs อาเซียน
ความเป็นมา
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะหนึ่งในภูมิภาคที่โตเร็วที่สุดในโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีการนำโมเดลการเติบโตมาใช้อย่างกว้างขวางในด้านการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนต่างประเทศ และการบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก แนวทางดังกล่าวช่วยเปิดประตูโอกาสสำคัญให้แก่ SMEs ซึ่งควรได้รับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตในตลาดที่มีการแข่งขันสูง จากการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ. 2558 และการเข้าร่วมผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ครอบคลุมมากขึ้นตามวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคจึงหันมาพัฒนา SMEs อย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมและลดช่องว่างรายได้ขนาดใหญ่ภายในรัฐสมาชิกอาเซียน
ตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนา SMEs อาเซียน ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการชี้วัดคุณภาพเศรษฐกิจเกิดใหม่ อีกทั้งยังช่วยในการติดตามและประเมินความก้าวหน้าของนโยบายสนับสนุน SMEs ของประเทศสมาชิก และช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องแนวนโยบายภูมิทัศน์และกรอบกฎหมายสำหรับการพัฒนา SMEs ในภูมิภาคอาเซียน ตัวชี้วัดนี้ยังแสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่อาจเกิดขึ้นและให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริจาค และรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยประกอบด้วยตัวชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณที่ประเมินขอบเขตมาตรการสนับสนุน SMEs ทั้งสิ้น 8 ด้าน พร้อมเป้าหมายหลักในการวางกรอบการประเมินนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนา SMEs แก่รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบาย เครื่องมือดังกล่าวไม่เพียงชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของแผนนโยบายและการนำไปปฏิบัติ แต่ยังเปรียบเทียบการดำเนินนโยบายและวัดการขับเคลื่อนของประเทศอาเซียนสู่มาตรฐานนโยบายการพัฒนา SMEs ของสหภาพยุโรป โดยมุ่งสนับสนุนรัฐบาลในการกำหนดเป้าหมายด้านการพัฒนานโยบาย SMEs และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นต่อไป พร้อมทั้งส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนเกิดการปรึกษาหารือเชิงนโยบายและแลกเปลี่ยนความรู้/ประสบการณ์ภายในภูมิภาคอาเซียนไปพร้อม ๆ กัน
ตัวชี้วัดข้างต้นมีการบูรณาการเป้าหมายจากแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียน (SAP SMED) ปี พ.ศ. 2559-2568 และมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปี พ.ศ. 2568 ทั้งนี้การประเมินจะดำเนินการโดย OECD และสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (ACCMSME)ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านท้องถิ่น และภาคเอกชนทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
วัตถุประสงค์
ตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนา SMEs อาเซียน (พ.ศ. 2566-2570) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างOECD กับ ERIA มีวัตถุประสงค์ในภาพรวมเพื่อให้แนวทางแก่ผู้กำหนดนโยบายของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในการกำหนดเป้าหมายด้านการพัฒนานโยบาย SMEs และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของอาเซียนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
แนวทางการดำเนินงาน
กิจกรรมของโครงการประกอบด้วย
- ศึกษาความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามนโยบาย SMEs ในประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างครอบคลุม
- พัฒนาตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนา SMEs อาเซียนร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน OECD และ ERIA เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศใช้เป็นฐานในการตัดสินใจทางการเมืองสำหรับระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า
- เผยแพร่ตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นในงานประชุมเชิงนโยบายระดับภูมิภาค
- จัดให้มีการหารือเชิงนโยบายระดับภูมิภาคภายในสภาพแวดล้อม SMEs อาเซียนผ่านแพลตฟอร์ม ASEAN Access พร้อมอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
การประเมินนโยบายตามตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนา SMEs จะดำเนินการผ่านแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยทีมนักวิจัยอิสระจากแต่ละประเทศสมาชิก พร้อมความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาล ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้เสียของ SMEs รายอื่น ๆ โดยจะมีการรวบรวมผลการประเมินของแต่ละประเทศเพื่อนำไปปรึกษาหารือกับหน่วยงานรัฐบาลและนำไปพูดคุยเปรียบเทียบในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปรับปรุง จากนั้นคณะผู้เชี่ยวชาญจาก OECD และ ERIA จะพิจารณาผลการประเมินเป็นการภายในเพื่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่างประเทศสมาชิกและภายในภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ กระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนา SMEs จึงเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อีกทั้งนำไปสู่การประเมินการปฏิบัติงานตามนโยบายที่เป็นธรรมผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เป็นอิสระ นอกจากนี้ การประเมินโดยอาศัยตัวชี้วัดยังให้ความยืดหยุ่นแก่ประเทศสมาชิกในการเลือกนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ภายในประเทศของตน และเมื่อพิจารณาในแง่ของบริบททางการพัฒนาและการเมืองที่แตกต่างกันอย่างยิ่งในแต่ละประเทศอาเซียน ความยืดหยุ่นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นสามารถปรับให้เข้ากับกระบวนการนโยบายและบริบทประเทศที่แตกต่างกัน
สำหรับมาตรการข้างต้นจะดำเนินการร่วมกับโครงการ “พัฒนาโครงสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคอาเซียน” (ASEAN SME) ภายใต้ความร่วมมือจากคณะทำงาน ACCMSME และพันธมิตรเครือข่ายเว็บไซต์ “ASEAN Access” โดยประสานผ่านบุคลากรประจำโครงการพัฒนา SMEs อาเซียนในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย
ผู้สนับสนุนงบประมาณ
กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
ประเทศ
ประเทศสมาชิกอาเซียน
หน่วยงานร่วมดำเนินการ
ผู้มีส่วนได้เสียระดับภูมิภาค เช่น สำนักเลขาธิการอาเซียน คณะทำงาน ACCMSME และคณะทำงานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) และผู้มีส่วนได้เสียระดับชาติ เช่น เจ้าหน้าที่ ผู้ควบคุมกฎระเบียบ และหน่วยงานรัฐท้องถิ่นที่มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ องค์กร สมาคม และสมาพันธ์ผู้ประกอบการธุรกิจถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกันเนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม SMEs สำหรับผู้ได้รับประโยชน์หลักจากการดำเนินงานครั้งนี้คือ SMEs ในภูมิภาคอาเซียน
ระยะเวลาโครงการ
มิถุนายน พ.ศ. 2565 – ธันวาคม พ.ศ. 2567
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน ตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนา SMEs อาเซียน ปี พ.ศ. 2561
คุณยศธนา ศรีพรหมไชย
Project Director