ความสำคัญของการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งของประเทศไทยและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ทำไมนักวางผังเมืองและเจ้าหน้าที่ด้านการท่องเที่ยวถึงต้องให้ความสนใจมากขึ้น
ในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2562 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำรายได้คิดเป็นร้อยละ 17 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของผู้คนหลายล้านคน แต่อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในปัจจุบันและที่คาดการณ์ในอนาคต สามารถสร้างความสูญเสียและความเสียหายให้กับภาคการท่องเที่ยวและการตั้งถิ่นฐานของประชาชนได้
ในภาคการท่องเที่ยวนั้น ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทชายหาดที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการสูญเสียพื้นที่ชายหาดจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลนั้น ถือเป็นปัญหาสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยว และในขณะเดียวกัน ภาคการตั้งถิ่นฐานของประชาชนเองก็ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งและน้ำท่วมบริเวณชายฝั่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน หรือสิ่งปลูกสร้าง
พื้นที่อำเภอแกลง จังหวัดระยองและอำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี ได้รับความสนใจจากกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) ในการจัดทำผังเมือง เนื่องจาก ยผ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความเสี่ยงของทั้งสองพื้นที่ โดยพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ
ความเสี่ยงจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลต่อการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งของประเทศไทย
ผลจากการวิเคราะห์การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลโดยใช้แบบจำลองความสูงและภาพถ่ายดาวเทียม ชี้ให้เห็นว่า ภายในปี พ.ศ. 2643 สิ่งปลูกสร้างร้อยละ 10 ในพื้นที่อำเภอสัตหีบ และร้อยละ 30 ในพื้นที่อำเภอแกลงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล
ยผ. ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ความเสี่ยงดังกล่าว จึงได้ร่วมกับ GIZ จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่องแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักและเสริมสร้างขีดความสามารถเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยการสัมมนาฯ ครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักผังและนักวิเคราะห์ผังจากทั่วประเทศ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากกว่า 180 คน เข้าร่วมการสัมมนาฯ ซึ่งประเด็นดังกล่าว สอดคล้องกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานโดยตรง และยังช่วยให้เกิดการนำบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในบริบทของการวางผังเมืองอีกด้วย
โอกาสที่รออยู่ข้างหน้า
การเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการสัมมนาฯ ครั้งนี้ เทคนิคการวิเคราะห์และข้อมูลที่สำคัญนั้นจะช่วยให้นักผังสามารถรับมือและเตรียมความพร้อมให้กับประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น การตอบรับที่มีศักยภาพจาก ยผ. นั้นก็จะช่วยเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมระหว่างการวางผังและภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่ง รวมทั้งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนในพื้นที่บริเวณชายฝั่งได้อีกด้วย