อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับภาครัฐและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในการจัดทำแผนและนโยบายการท่องเที่ยวให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวในฝันและเป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นและจะทวีความรุนแรงมากขึ้นนั้น ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องอันตรายและความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ เช่นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล น้ำท่วม อุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยแล้ง ปะการังฟอกขาว และเหตุการณ์อื่นๆ หากเรายังไม่จัดการกับภัยและความเสี่ยงเหล่านี้ เศรษฐกิจท้องถิ่นและระดับประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนถึงร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศกว่า 35 ล้านคนในปี พ.ศ. 2559 ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม และมีบทบาทความสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวหลักต่างๆ ทั่วประเทศ
ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่ากังวลนี้ ควรได้รับการจัดการและบูรณาการเข้ากับวาระการพัฒนาการท่องเที่ยวระดับประเทศ เพื่อให้เกิดทางเลือกในการปรับตัวที่เหมาะสมในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะได้มาซึ่งทางเลือกในการปรับตัวนั้น ความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงและความเปราะบางต่อสภาพอากาศและบทบาทของข้อมูลสภาพอากาศถือเป็นขั้นตอนสำคัญ ที่จะระบุภัยด้านสภาพอากาศที่เฉพาะเจาะจง การสร้างความตระหนัก และนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ
พาดหัวข่าวที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการท่องเที่ยว
เกาะสมุยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง
…2 ใน 5 ของโรงกรองน้ำที่เกาะสมุยประกาศหยุดส่งจ่ายน้ำ (Koh Samui News, 2016, print)
ประเทศไทยปิดแหล่งดำน้ำเหตุจากวิกฤตปะการังฟอกขาว
…ปิดแหล่งดำน้ำยอดฮิต 10 แห่ง ….ยืดวิกฤตปะการังฟอกขาวให้ช้าลง (Guardian, 2016)
ช้างล้ม (ตาย) จากลมแดด
…ทำงานนานกว่า 40 นาทีท่ามกลางแดดที่แผดเผา (Independent, 2016)
พายุปาบึกในประเทศไทย
นักท่องเที่ยวกว่าร้อยชีวิตอพยพออกจากเกาะเนื่องจากพายุเข้า..กองทัพเรือไทยได้รับคำสั่งให้อพยพคนบนเกาะพีพีประมาณ 500 คนและเกาะราชาใหญ่กว่า 60 คน (Express, 2019)
ด้วยเหตุนี้ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับสำนักงานแผนและนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ด้วยการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติการจัดการความเสี่ยง (Risk-NAP) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สร้างพื้นที่เรียนรู้และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ผู้แทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กรมศิลปากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) และสถาบันการศึกษาเข้าร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ครั้งนี้ด้วย
“ปัจจุบันนี้ ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศสร้างความกดดันต่อภาคการท่องเที่ยวและการพัฒนา เช่น อุณหภูมิสูงที่จังหวัดน่าน การกัดเซาะชายฝั่ง และการสูญเสียที่ดินที่ถูกกัดเซาะในจังหวัดสมุทรปราการ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเอาเครื่องมือและวิธีการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศมาเป็นแนวทางในการตัดสินใจเชิงนโยบาย” นายบุญเสริม ขันแก้ว ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวกล่าว
เมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศในความรุนแรงและระดับที่แตกต่างกัน ควรนำแนวทางการดำเนินงานทั้งแบบบนลงล่าง และล่างขึ้นบนมาใช้ มร. ยันโต เฮสส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว ได้สาธิตและร่วมอภิปรายวิธีการและเครื่องมือประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น แนวทางการระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) การใช้ตัวชี้วัด การมีส่วนร่วม และการฉายภาพในอนาคต
ดร. ดาเนียล สก๊อต ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์สหวิชาชีพด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา บรรยายถึงบทบาทของข้อมูลด้านสภาพอากาศในระดับโลกและระดับประเทศเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว การสนับสนุนกรอบการดำเนินงานระดับโลก และวิธีใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตัดสินใจ และการเตรียมความพร้อม นอกจากนั้น ดร. จุฑามาศ วิศาลสิงห์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวโน้มการพัฒนาการท่องเที่ยวในปัจจุบัน และร่วมอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายการกระจายตัวและการวัดขีดความสามารถในการรองรับ ในส่วนของตัวชี้วัดการประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและความเข้าใจเชิงลึก ในเรื่องวิถีการปรับตัวนำเสนอโดย ดร. ซูซานเน่ เบคเค่น จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ
มร. ไฮริช กูเดนุส ผู้อำนวยการโครงการ Risk-NAP ย้ำว่า “เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวที่มีภูมิคุ้มกันในประเทศไทย ไม่ว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีความรุนแรงหรือเบาบาง วิธีการแก้ปัญหาแบบไม่เสียเปล่า ควรเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย”
การอบรมเชิงปฏิบัติการในสองวันนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างองค์กรในภาคการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาข้อมูลสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ซึ่งโครงการฯ คาดหวังว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยวจะนำแนวคิด วิธีการ และเครื่องมือที่ได้เรียนรู้ไปบูรณาการเข้ากับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยว และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีภูมิคุ้มกันในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ