กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดงานวันผังเมืองโลกประจำปีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงบทบาทและความสำคัญของผังเมือง และเปิดพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง
ภายในงาน มีแขกรับเชิญและบุคคลผู้มีเสียงในวงการหลายท่านมาร่วมขึ้นเวทีเพื่อบรรยาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจในการพัฒนาเมือง เช่น “ทิศทางการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และการเติบโตของเมืองอย่างบูรณาการ” ซึ่งบรรยายโดยคุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ “การออกแบบสาธารณูปโภคสีเขียวด้วยภูมิสถาปัตย์เพื่อการรับมือภัยพิบัติ” ซึ่งบรรยายโดยคุณกชกร วรอาคม ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท LANDPROCESS จำกัด เป็นต้น กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่างๆ โดยมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักผังเมืองจากกรมโยธาฯ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย และอาจารย์มหาวิทยาลัย ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศ
นอกเหนือจากเวทีสัมมนา ยังมีโซนจัดนิทรรศการซึ่งเปิดเป็นพื้นที่ให้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตลอดจนสร้างเครือข่ายการดำเนินงาน โดยผู้เข้าร่วมงานหลายรายได้จัดแสดงผลงานที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมือง เช่น องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งนำเสนอเมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืนและโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlements Programme: UN-HABITAT) ซึ่งนำเสนอคู่มือการจัดแสดงวาระเมืองฉบับใหม่
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้เข้าร่วมการจัดนิทรรศการครั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากโครงการสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติการจัดการความเสี่ยง (Risk – NAP) โครงการด้านนโยบาย ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy) โครงการด้านน้ำ ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Water) และโครงการการออกแบบการขนส่งภายในเมืองขนาดกลางอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน (SMMR) โดยเน้นการนำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการวางผังเมือง ทั้งในแง่ของการปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ผู้เข้าร่วมจากกรมโยธาธิการและผังเมืองและนักวิชาการ มีความสนใจในเรื่องการเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการวางแผนเชิงพื้นที่ระดับท้องถิ่น ทางเลือกในการปรับตัวในพื้นที่ระดับท้องถิ่น แนวทางในการวางแผนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ระดับท้องถิ่น และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในจังหวัดอันดามันและจังหวัดตรัง โดยเจ้าหน้าที่จากกรมโยธาธิการและผังเมืองและนักวิชาการ จะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์และผลักดันให้เกิดการบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในการดำเนินงานภายใต้บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ต่อไปในอนาคต