ความเป็นมา
ประเทศไทยริเริ่มการพัฒนาแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี พ.ศ. 2558 เพื่อเตรียมรับมือกับความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ถึงแม้ว่าการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ข้อมูลเชิงลึกด้านผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแนวทางการรับมือและปรับตัวยังคงไม่ครอบคลุม ในขณะเดียวกันการเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการบูรณาการประเด็นด้านการปรับตัวฯ เข้าสู่กระบวนการการวางแผนในระดับพื้นที่ยังมีอยู่จำกัด
วัตถุประสงค์
- เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ และแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอ้างอิงจากผลของการวิเคราะห์
- เพื่อบูรณาการผลวิเคราะห์ความเสี่ยงฯ และมาตรการการปรับตัวฯ เข้าสู่กระบวนการการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ในระดับสาขา รวมถึงวางแผนในระดับพื้นที่
- เพื่อปรับกลไกทางการเงินและระบบงบประมาณให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการในแผนการปรับตัวฯ
แนวทางดำเนินงาน
โครงการฯ สนับสนุนการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศและการวิเคราะห์ความเสี่ยงฯ ในรายละเอียดสำหรับพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ซึ่งผลของการวิเคราะห์ความเสี่ยงฯ นี้จะเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนานโยบาย แผน และมาตรการด้านการปรับตัวฯ ในระดับประเทศผ่านทางการเสริมสร้างศักยภาพของผู้กำหนดนโยบาย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ โดยแผนการปรับตัวฯ นี้จะใช้เป็นกรอบในการปรับเปลี่ยน และเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อแผนการปรับตัวฯ ได้รับการพัฒนาแล้ว โครงการฯ จะสนับสนุนการดำเนินการงานทั้งในรายสาขาและระดับพื้นที่และครอบคลุมถึงการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผล ท้ายที่สุดผู้กำหนดนโยบายและผู้ดำเนินการจะได้รับการสนับสนุนเชิงวิชาการเพื่อปรับเปลี่ยนกลไกการเงินและระบบงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการดำเนินการด้านการปรับตัวฯ
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
การบูรณาการฯในระดับประเทศ โครงการฯ สนับสนุนงานใน 3 สาขาหลักได้แก่ ภาคสาธารณสุข ภาคการท่องเที่ยว และการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ โดยมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงฯ และบูรณาการความเสี่ยงฯ ดังกล่าวเข้าสู่การพัฒนานโยบายและแผนในส่วนของการปรับเปลี่ยนกลไกทางการเงิน โครงการฯ สนับสนุนการประเมินงบประมาณที่ต้องใช้สำหรับการดำเนินงานตามแผนการปรับตัวฯ การผนวกเกณฑ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาการให้งบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์เครื่องมือทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ในด้านการปรับตัวฯ ที่เสนอภายใต้ (ร่าง) กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้โครงการฯ สนับสนุนการดำเนินงานภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการวางแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้สามารถนำข้อมูลด้านความเสี่ยง แนวทางการปรับตัวมาปรับใช้ในการดำเนินงานรายสาขาได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับในส่วนของการบูรณาการฯในระดับพื้นที่ โครงการฯ ได้ริเริ่มกระบวนการการวางแผนการปรับตัวฯเชิงพื้นที่ และนำมาตรการที่ได้เสนอไว้ภายใต้แผนการปรับตัวฯ มาเป็นกรอบการพัฒนามาตรการการปรับตัวในระดับพื้นที่ของ 4 พื้นที่นำร่องบนพื้นฐานของภาพฉาย (scenario) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน โดยกระบวนการดังกล่าวได้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่จากหลากหลายสาขา เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร การตั้งถิ่นฐาน ภาคสาธารณสุข และการจัดการทรัพยากรน้ำเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและมาตรการที่จะนำไปสู่การมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
สิงหาคม พ.ศ. 2558 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564