โครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว (Green Cooling Initiative: GCI III) ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา โครงการนี้เป็นโครงการระดับโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) และดำเนินงานหลักโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ โครงการ GCI III จะสนับสนุนประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงความสามารถของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนา “วิธีการทำความเย็นสีเขียว” โดยการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ และการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับประเทศไทย โครงการ GCI III มุ่งเน้นการสนับสนุนให้ผู้ใช้ปลายทาง (End-users) รู้จักการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว ผ่านเครื่องมือกลไกเชิงนโยบายและเชิงเทคนิค และเนื่องจากโครงการ GCI III ในประเทศไทยนี้ได้รับเลือกให้เป็นศูนย์ของภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว หรือ “GCI Network” ในประเทศไทย จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ให้แก่หน่วยงานภายในประเทศและประเทศภาคีในภูมิภาคด้วย เนื่องจากการบริหารจัดการเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวอย่างปลอดภัยถือเป็นประเด็นสำคัญและต้องอาศัยทักษะที่ชำนาญของช่างเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง โครงการ GCI III จึงได้ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เตรียมการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในหัวข้อ “ความร่วมมือในการพัฒนาทักษะฝีมืออันยั่งยืนในภาคส่วนเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC)” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากรในภาคส่วน RAC เกี่ยวกับวิธีการทำความเย็นสีเขียว
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ทางโครงการฯ ได้จัดการประชุมร่วมกับว่าที่ร้อยตรีสมศักดิ์ พรหมดำ รองอธิบดี กพร. เพื่อหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดทำ MoU รวมถึงตกลงร่วมกันต่อกรอบความร่วมมือและการดำเนินการ ซึ่งได้แก่ (1) โปรแกรมและหลักสูตรการฝึกอบรม (2) มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและใบประกอบวิชาชีพ (3) การเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และ (4) กิจกรรมร่วมที่เกี่ยวข้องกับการทำความเย็นสีเขียว ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความเกี่ยวข้องทั้งเชิงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเชิงเศรษฐกิจแล้ว ความร่วมมือนี้จะสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยต่อการสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการทำความเย็น และในขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของประเทศในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
ว่าที่ร้อยตรีสมศักดิ์ พรหมดำ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า “สืบเนื่องจากที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงและประกาศเจตนารมณ์ต่อที่ประชุม COP26 ว่าประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2608 กพร. ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบต่อการพัฒนามาตรฐานทักษะวิชาชีพ หลักสูตรการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน และใบประกอบวิชาชีพของประเทศไทยนั้น พร้อมที่จะสนับสนุนและร่วมมือกับโครงการ GCI III ประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการทำความเย็นอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของบุคลากรไทย ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ”
นางสาวเดนีส อันเดรส หัวหน้าโครงการ GCI III ประเทศไทย กล่าวว่า “การเสริมสร้างและพัฒนาความสามารถของช่างเทคนิคไทยในภาคส่วน RAC เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการรักษาวิธีการทำความเย็นสีเขียวภายในประเทศให้เกิดความยั่งยืนและเป็นการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักในระดับภูมิภาคและระดับโลก”
MoU นี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนาม ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในไตรมาสที่สามของปีนี้ และมีผลบังคับใช้จนถึงโครงการสิ้นสุดลง