สุพรรณบุรี / 9 พฤษภาคม 2565 – นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมด้วยนางสาวลิโอบา ดอนเนอร์ เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายของประเทศไทย ฝ่ายแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ด้านความร่วมมือทวิภาคี กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) เข้าเยี่ยมชมแปลงนาและการสาธิตการทำนาที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ไทย ไรซ์ นามา) รวมทั้งพบปะเกษตรกรเพื่อหารือเกี่ยวกับการทำนาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรายได้ให้กับเกษตร รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแปลงนา ณ กลุ่มนาแปลงใหญ่ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
การเยี่ยมชมงานในครั้งนี้ ยังประกอบด้วย นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว
ข้าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ และการทำนาในประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ส่งผลให้การทำนาข้าวของประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นโครงการไทย ไรซ์ นามา จึงมุ่งพัฒนายุทธศาสตร์ตลาดข้าวที่ยั่งยืน พร้อมส่งเสริมเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาลดโลกร้อนให้แก่เกษตรกรตามมาตรการ “3 เพิ่ม 3 ลด” คือ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย
คณะฯ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมการสาธิตวิธีการและเทคนิคการปรับระดับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling -LLL) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี 4 ป. หลักสำคัญของการทำนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย การปรับระดับหน้าดินด้วยเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการแปรสภาพฟางข้าว และจัดการตอซังเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการปรับระดับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ เป็นเทคโนโลยีหลักที่จะสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในการปฏิบัติเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น ลดการใช้น้ำและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้สูบน้ำด้วยการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ลดอัตราการสูญเสียปุ๋ยและข้าวได้รับปุ๋ยสม่ำเสมอทั่วกันทั้งแปลงนาจากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
เทคนิคการทำนาลดโลกร้อนที่โครงการไทย ไรซ์ นามา ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรยังสอดคล้องกับ “ข้อตกลงกลาสโกว์” ในการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเจตจำนงในการเข้าสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สถานะ Carbon neutrality หรือทำตามที่ท่านนายกได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ที่เวที COP26 นั้น ก็มีปัจจัยอยู่ 3 อย่าง หนึ่งก็คือ การที่เราได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือพาร์ทเนอร์ของเรา สองก็คือ การที่จะต้องได้รับเทคโนโลยีเข้ามา และปัจจัยสุดท้ายก็คือ การสร้าง Capacity building นี่คือสิ่งที่เราต้องการจากเพื่อนๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็แล้วแต่ ที่จะทำให้ประเทศไทย ที่ถึงแม้ว่าเรานั้นผลิตก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของโลกใบนี้ แต่เราเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด วันนี้ การทำงานร่วมกันและการขอความร่วมมือในสามประเด็นที่ผมได้กล่าวไปนั้น จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านการแก้ไขปัญหา Climate change ในอาเซียนและในภูมิภาคของเราได้ครับ”
นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เน้นย้ำว่า จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเมืองที่เรียกว่าเกษตรกรรม ดังนั้นในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ เราก็จะมีการกำหนดตัวชี้วัดแนวทางการพัฒนา ซึ่งเรื่องการเกษตร เป็นหนึ่งในนั้น “ในท้ายที่สุด เป้าหมายของเราก็คือ การที่เกษตรกรของจังหวัดสุพรรณบุรีมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรของสุพรรณบุรีนั้นดียิ่งขึ้น ”
ในด้านการสนับสนุนจากต่างประเทศ นายณัฐภัทร กล่าวเสริมว่า “เราได้รับการสนับสนุนจาก NAMA Facility ในเรื่องของเงินทุนเพื่อมาช่วยเหลือในเรื่องของการปรับสภาพการทำนาของเกษตรกร โดยปรับเปลี่ยนจากวิถีเดิมให้เป็นวิถีแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
โครงการไทย ไรซ์ นามา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก NAMA Facility ซึ่งมีรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและ สหราชอาณาจักรเป็นผู้ให้ทุนหลัก ภายใต้การดำเนินงานโดยกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยของไทยใน 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี จำนวน 100,000 ครัวเรือนให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการทำนาลดโลกร้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าว และปรับเปลี่ยนสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ โดยโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 – สิงหาคม พ.ศ. 2566
นางสาวลิโอบา ดอนเนอร์ จากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) กล่าวว่า “วันนี้ยอดเยี่ยมมากจริงๆ ที่ได้มาเห็นโครงการไทย ไรซ์ นามา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของฝ่ายแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ของเราและภายใต้การได้รับเงินสนับสนุนจาก NAMA facility ประเทศไทยนับเป็นพันธมิตรที่สำคัญในด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีทั้งหมด 34 โครงการภายใต้การสนับสนุนของเรา และเป็นเรื่องดีมากที่ได้เห็นว่าพวกเขานำเทคนิคด้านการทำนาเพื่อลดโลกร้อนต่างๆ มาปรับใช้ เช่น การปรับระดับพื้นนาด้วยเลเซอร์ และการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง”
“นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับพวกเขาที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น มีรายได้ที่สูงขึ้น ฉันคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก และฉันก็มีความสุขมากที่ได้มาอยู่ที่นี่ในวันนี้ และเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือและสนับสนุนประเทศไทยด้วยความมุ่งมั่นนี้ต่อไป” นางสาวลิโอบา กล่าวเสริม
ด้านนางสาวสวณีย์ โพธิ์รัง ในฐานะเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการไทย ไรซ์ นามา ได้กล่าวถึงผลดีจากการทำนาลดโลกร้อน ภายหลังเข้าร่วมโครงการ “ก่อนที่เราจะเข้าร่วมโครงการ ต้นทุนอยู่ที่ 5,270 บาทต่อไร่ โดยที่เราไม่มีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาช่วย พอเรามีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ต้นทุนลดลงเหลือแค่ 3,200-3,500 บาทต่อไร่ ทำให้เราสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้ จากเมื่อก่อนอยู่ที่ 700 กิโลกรัมต่อไร่ พอเรามีเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้เราเพิ่มผลผลิตได้อย่างน้อย 900 กิโลกรัม-1 ตันต่อไร่ ซึ่งจะส่งผลถึงเรื่องผลผลิตและกำไรที่เพิ่มมากขึ้น”
“ถ้าเราไม่เริ่มปรับตัวเรื่องของการทำนาแบบรักษ์โลก หรือว่าการช่วยให้โลกลดเรื่องของค่าก๊าซมีเทนที่ส่งผลต่อโลกร้อน เราก็จะได้รับผลกระทบก่อนใคร ก็อยากชักชวนเรื่องการทำนาแบบรักษ์โลก โดยเริ่มจากตัวเราค่ะ ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา และก็ส่งผลต่อคนอื่น เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวค่ะ เป็นเรื่องใกล้ตัว และเราเป็นเกษตรกร เป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด” นางสาวสวณีย์ กล่าวทิ้งท้าย
เก็บตกภาพบรรยากาศการเยี่ยมชมแปลงนา จังหวัดสุพรรณบุรี สามารถรับชมได้ที่นี่
และเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยี 4 ป. ได้ที่นี่