สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน จัดการประชุมสัมมนาเผยแพร่สรุปผลการประชุม เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา
เป็นเวลากว่าสามปี นับจากวันที่ประเทศภาคีสมาชิก 197 ประเทศได้ลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ณ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 24 (COP 24) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ เมืองคาโตวีเซ สาธารณรัฐโปแลนด์ ที่ประชุมได้ลงนามรับรอง Paris Agreement rulebook ซึ่งเป็นกฎ รูปแบบ และแนวทางในการดำเนินงานตามความตกลงปารีส เพื่อให้ประเทศต่างๆ ใช้ดำเนินการภายหลังปี พ.ศ. 2563
การจัดทำ Paris Rulebook
ประเทศภาคีสมาชิกได้ตกลงกันในเรื่องกฎ รูปแบบ และแนวทางในการดำเนินงานตามความตกลงปารีส หรือที่เรียกกันว่า Paris Rulebook เพื่อใช้ดำเนินการภายหลังปี พ.ศ. 2563 โดยกลไกนี้จะวางกรอบการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกัน และเน้นการปฏิบัติที่โปร่งใส
ประเทศภาคีสมาชิกต้องจัดส่งรายงานความคืบหน้าการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDC) อย่างต่อเนื่องทุกๆ 5 ปี เริ่มในปีพ.ศ. 2563 และทุกๆ 2 ปี ต้องจัดส่งรายงานความโปร่งใส (Transparency Report)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังตกลงให้มีการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) ทุกๆ 5 ปี เพื่อประเมินความก้าวหน้าต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายระยะยาวของความตกลงปารีส โดยจะเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2563
อีกหนึ่งไฮไลท์ของการประชุม คือ การที่ประเทศพัฒนาแล้วประกาศเพิ่มการสนับสนุนเงินทุนที่ใช้ในการขับเคลื่อนกระบวนการการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่มุ่งระดมทุนจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างน้อย 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปีค.ศ. 2020 กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เป็นกลไกทางการเงิน ภายใต้ UNFCCC ที่ใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนี้ โดยสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำและมีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แนวทางการเตรียมความพร้อมของประเทศไทย ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงสืบเนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ ประเทศไทยได้จัดส่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ในภาคพลังงาน ขนส่ง ภาคของเสีย และภาคอุตสาหกรรม ภายหลังปี พศ. 2563 ให้ได้ร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติ และดำเนินการด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “COP 24 กับอนาคตโลกและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเร่งปรับปรุงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาระบบตรวจวัด รายงานผล และการทวนสอบ และมาตรการที่เร่งด่วนอื่นๆ เพื่อใช้ดำเนินการภายหลังปี พ.ศ. 2563
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศกำลังอยู่ระหว่างการแปลงข้อตกลงของCOP 24 ให้เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานของประเทศไทย ตลอดจนยกระดับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต และการประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส เป็นการประชุมในกรอบพหุภาคีของประชาคมโลกที่ต่อเนื่องและครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก ซึ่งมีขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา หารือในประเด็นด้านเทคนิค การดำเนินงาน ตลอดจนแสวงหาแนวทางและกลไกที่จะส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ของความตกลงปารีส
สผ. พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศและติดตามความก้าวหน้าของการประชุม ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ เมืองคาโตวีเซ สาธารณรัฐโปแลนด์
การประชุม COP สมัยที่ 25 จะจัดขึ้น ณ ประเทศชิลี และการประชุมเตรียมการณ์ (Pre-COP) จะมีขึ้นที่ประเทศคอสตาริกา
อนุสรา แท่นพิทักษ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ Email:anusara.tanpitak(at)giz.de
Data from the following embedded codes are sent to Google Inc. More information in our Privacy Policy.
YouTube
Enable or disable cookies for embedding and playing YouTube videos on our site.
(เปิดหรือปิดคุกกี้สำหรับการฝังและเล่นวิดีโอ YouTube บนเว็บไซต์ของเรา)